สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การกระทำความผิดซ้ำคำเตือนนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

เมื่อมีการว่าจ้างแรงงานให้ทำงานให้ จะต้องมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หากเข้าเหตุกรณี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย      
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ซึ่งกรณีตามประเด็นปัญหาในมาตรา 119(4 ) จะเป็นอย่างไรนั้น ขออธิบายว่า เมื่อมีการกระทำความผิดแล้ว นายจ้างเห็นว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรงและได้ออกหนังสือเตือนให้ลูกจ้างทราบ และลูกจ้างได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำเตือนนั้นแล้ว หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน ขอย้ำว่า ในเรื่องเดียวกันอีก ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่ได้ออกหนังสือเตือนและกระทำความผิดนั้น นายจ้างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

โดยจะขอนำเอาตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกามาให้เป็นกรณีศึกษาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4110/2561โจทก์เป็นผู้จัดการแผนกคลังสินค้ามีหน้าที่จัดทำเอกสารใบควบคุมการส่งสินค้าเพื่อจ่ายสินค้า ออกจากคลังสินค้าและจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ก่อนนำสินค้าขึ้นรถขนส่งจะต้องมีการตรวจสอบรายการสินค้าให้ครบถ้วนเสียก่อน การที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือนครั้งแรกโดยไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยให้บริษัทขนส่งรับสินค้าขึ้นรถขนส่งโดยไม่มีลายมือชื่อรับสินค้าของเจ้าหน้าที่ของรถขนส่ง และกระทำผิดครั้งสุดท้ายโดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำสินค้าขึ้นรถขนส่งทั้งที่ยังไม่มีใบควบคุมการส่งสินค้าและไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนสินค้านั้น ล้วนเป็นการกระทำผิดในหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวกับการจัดทำใบควบคุมการส่งสินค้าและตรวจสอบการส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดทั้งสองครั้งในเรื่องเดียวกัน เมื่อจำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์มาก่อนแล้วโจทก์กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีกภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และที่โจทก์กระทำผิดครั้งสุดท้ายเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และกรณีดังกล่าวมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

ดาวโหลดแบบฟอร์มการเลิกจ้างกรณีกระทำผิดซ้ำคำเตือน

-หนังสือเลิกจ้างกรณีกระทำผิดซ้ำคำเตือน