สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ตัวการตัวแทนนั้น กฎหมายกำหนดให้สามารถทำแทนกันได้ ซึ่งนั้นหมายความว่า ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการนั้นๆ แทนตัวการได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องของตัวการตัวแทน โดยมีหลากหลายประเภทแล้วแต่ตัวการตัวแทนจะมอบหมายการนั้นในลักษณะใด อาทิ การมอบอำนาจให้ไปศาลแทน การมอบอำนาจให้ไปรับสินค้าแทน การมอบอำนาจให้ไปโอนที่ดินแทน การมอบอำนาจให้ไปเช่าที่ดินแทน เป็นต้น ตามที่ได้กล่าวข้างต้นนี้นั้น เป็นเรื่องของการมอบอำนาจให้ดำเนินการใดแทนตัวการ แต่ที่จะพูดถึงกรณีในบทความนี้ เป็นเรื่องของการลงลายมือชื่อของตัวการแทนแล้วนำเอกสารนั้นไปใช้กับบุคคลภายนอก เช่น เซ็นเช็คแทน ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าที่มีชื่อตัวการแล้วอ้างว่าตนเองตัวการแล้วลงนามแทนตัวการในสัญญาเช่านั้น เป็นต้น หากสังเกตแล้วจะเห็นได้ว่า ระหว่างตัวการและตัวแทนนั้น ไม่ได้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด แต่หากพิจารณาจากในด้านของฝ่ายบุคคลภายนอกแล้ว ผู้ทำนิติกรรมกับตนกลับไม่ใช่ผู้ทำสัญญาที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายและอาจส่งผลกระทบต่อสัญญานั้น
เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อแทนกันนั้น มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มาตรา 264  “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
จากบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 264  นั้น ลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ย่อมเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ซึ่งตามที่ได้ยกตัวอย่างก่อนมาตรานี้ ได้มีการลงลายมือชื่อแทนตัวการโดยอ้างว่าตนเองเป็นตัวการคู่สัญญาของบุคคลภายนอก การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่หากพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายต่อมาว่า โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ในแง่ของผู้เป็นตัวการตนเองเป็นผู้สั่งให้ปลอมลายมือชื่อของตนเองลงในเอกสาร กรณีเช่นนี้ผู้เป็นตัวการย่อมไม่ได้รับความเสียหายจากการปลอมลายมือชื่อของตน จึงทำให้ขาดองค์ประกอบในข้อที่ว่า โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่หากพิจารณาให้แง่ของคู่สัญญาของตัวการแล้ว จะเห็นได้ว่า คู่สัญญาได้รับความเสียหายจากการปลอมลายมือชื่อ เพราะตัวคู่สัญญาที่แท้จริงไม่ได้มาลงลายมือชื่อด้วยตนเอง จึงเข้าลักษณะขององค์ประกอบที่ว่า โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แล้ว

                โดยจากกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ขอให้ศึกษากรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อประกอบการเข้าใจ ดังนี้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลง

ลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง
๐ แต่หากปรากฏว่าผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อของผู้กู้ในสัญญากู้อยู่แล้ว ผู้ให้กู้ได้กรอกข้อความไปตามความเป็นจริงในเรื่องของจำนวนเงินที่ได้กู้ไป ย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอกเอกสาร โดยให้พิจารณาจากคำพิพากษาฉบับอย่างเทียบเคียงดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2557โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม

 
Tags : ทนายความเชียงใหม่,ทนายเชียงใหม่,ทนายความ เชียงใหม่