สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ขอไถ่ทรัพย์จำนำคืนไม่ยอมให้ไถ่ไม่ผิดยักยอก

การที่ผู้รับจำนำรับทรัพย์สินใดไว้เป็นประกันตามสัญญา  ผู้รับจำนำย่อมเข้าครอบครองทรัพย์สินที่จำนำนั้นแล้ว  หากปรากฏว่า  ผู้จำนำขอไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำไว้  แต่ผู้รับจำนำไม่ยินยอมให้ไถ่ถอน  ไม่ถือว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์สินที่จำนำนั้น  ไม่ถือว่าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินที่จำนำเป็นผู้ตนเองโดยทุจริต  จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

                มาตรา 352  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

คำตัดสินที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979/2501
โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานยักยอกระบุการกระทำที่เป็นความผิดเฉพาะแต่ตอนที่ว่า "เจ้าทรัพย์ได้ไปขอไถ่แหวนเพชรที่จำนำจำเลยไว้จำเลยไม่ยอมให้ไถ่" เช่นนี้ ไม่เป็นการแสดงว่าจำเลยเบียดบังที่จะเอาทรัพย์(แหวนเพชร)นั้นเป็นของตนโดยทุจริต หากเป็นแต่เพียงแสดงว่าจำเลยผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนข้อความที่บรรยายในฟ้องตอนต้นที่ว่า "จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาแหวนเพชรซึ่งได้รับจำนำไว้เป็นประโยชน์ของตนเสีย" นั้น เป็นเพียงข้อความที่แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะยักยอกทรัพย์เท่านั้น หาใช่การกระทำไม่
เมื่อฟ้องของโจทก์ระบุการกระทำผิดแต่เพียงว่าเจ้าทรัพย์ได้ไปขอไถ่แหวนเพชรที่จำนำจำเลยไว้ จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ เช่นนี้ โจทก์จะนำสืบถึงการกระทำอย่างอื่นเพื่อแสดงว่าจำเลยเบียดบังเอาแหวนเพชรเป็นของตนก็ย่อมไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
เมื่อฟ้องของโจทก์แม้จะสืบได้ความก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น
___________________________

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2500 เวลากลางวัน จำเลยได้รับจำนำแหวนเพชร 1 วงราคา 1,200 บาทของนางกิมเอ็งไว้เป็นเงิน 150 บาท ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค.2500 ถึงวันที่ 22 ก.ค. 2500 เวลาไม่ปรากฏ จำเลยบังอาจมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาแหวนเพชรดังกล่าวเป็นประโยชน์ของตนเสียโดย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2500 นางกิมเอ็งได้ไปไถ่คืน แล้วจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่บริบูรณ์ที่จะลงโทษจำเลยในทางอาญา จึงพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ต้องสืบพยานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 และ 161
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องของโจทก์มีข้อความครบถ้วนอันเป็นเกณฑ์องค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แล้ว ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์จำเลยนำพยานสืบตามฟ้องและข้อต่อสู้แล้วให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ระบุการกระทำที่เป็นความผิดเฉพาะแต่ตอนที่ว่า "เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2500 นางกิมเอ็งได้ไปขอไถ่ (แหวนเพชร) คืน แล้วจำเลยไม่ยอมให้ไถ่" เท่านั้น ข้อความดังกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่าเป็นการเบียดบังของจำเลยที่จะเอาทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ แต่หากเป็นเพียงแสดงว่าจำเลยผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนข้อความในตอนต้นที่ว่า "จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาแหวนเพชรซึ่งได้รับจำนำไว้เป็นประโยชน์ของตนเสีย" นั้นเป็นเพียงข้อความแสดงเจตนาของจำเลยที่จะยักยอกทรัพย์ต่างหากหาใช่การกระทำไม่ และเมื่อฟ้องของโจทก์ระบุการกระทำผิดแต่เพียงว่า นางกิมเอ็งได้ไปขอไถ่แล้วจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ การที่โจทก์จะนำสืบถึงการกระทำอย่างอื่นเพื่อแสดงว่าจำเลยเบียดบังเอาแหวนเพชรเป็นของตนก็ย่อมไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นเมื่อฟ้องของโจทก์แม้จะสืบได้ความ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ดังนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ดังศาลชั้นต้น