สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ซื้อขายรถยนต์โดยไม่ได้จดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์

เป็นของใคร

ในการซื้อขายรถยนต์นั้น จะมีการจดทะเบียนโอนที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะได้ทำการตกลงในเรื่องราคารถยนต์ และบางรายอาจจะตกลงให้โอนลอย โดยการลงลายมือขื่อให้หนังสือมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนต่อสำนนักงานขนส่ง
 
จึงมีคำถามว่า กรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของในรถยนต์เป็นผู้ซื้อหรือของผู้ขาย หากว่ายังไม่ได้ชำระเงินราคารถยนต์ให้แก่ครบถ้วน
 
หลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ " มาตรา 458  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
 
จากหลักกฎหมายดังกล่าว กฎหมายกำหนดว่า ให้พิจารณาในขณะทำสัญญาว่า การซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงในเรื่องของกรรมสิทธิ์ว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะต้องดำเนินการอย่างใดในเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถยนต์
ที่ซื้อขายหรือไม่ หากไม่มีการตกลงแล้ว กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างกัน แม้ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่กันก็ตาม เพราะการโอนกรรสิทธิ์ในรถยนต์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แบบสังหาริมทรัพย์ กรรสิทธิ์ย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการตกลงทำสัญญาระหว่างกันเพื่อให้เกิด
ความเข้าใจ จะขอยกตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 นาย ก ตกลงซื้อรถยนต์จาก นาย ข เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท แต่ยังไม่ได้ชำระราคาระหว่างกัน ต่อมา นาย ข ทวงถามให้นาย ก ชำระเงิน แต่นาย ก ไม่ชำระ นาย ข จึงไปนำรถยนต์กลับมาโดยพลการ จึงเกิดปัญหาว่า ความเป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว ระหว่าง นาย ก กับ นาย ข ในมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าว หากว่า ขาย ก มีกรรมสิทธิ์ นาย ข ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
 
จากกรณีตามปัญหา จะเห็นได้ว่า การที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าราคารถยนต์และโอนทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่กัน กรรมสิทธิ์จะโอนหรือไม่
 
จากมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายต้องการเพียงว่า มีการตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือไม่ หากไม่มีและมีเพียงว่า ตกลงซื้อขายรถยนต์กันเท่านั้นเท่านี้แล้ว กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อรถยนต์ทันทีที่ได้ตกลงซื้อขายกันระหว่าง ผู้ซื้อและผู้ขาย
 
จากกรณีตามปัญหามีคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาล ตัดสินไว้ดังนี้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553โจทก์ร่วมซื้อรถยนต์ตู้จากจำเลยในราคา 310,000 บาท จำเลยรับชำระราคาแล้ว 200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และ 458 แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมยังค้างชำระค่ารถยนต์ตู้อยู่ก็ตาม หากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ร่วมผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อขอให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยหามีสิทธิที่จะติดตามเอารถยนต์ตู้คันที่ขายไปนั้นคืนมาโดยพลการได้ไม่
 
การที่จำเลยบอกกับ ท. ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์ตู้ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมว่าจะมาเอารถยนต์ตู้ไป ท. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้และมิใช่ผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมให้จำเลยกระทำการเช่นนั้น จึงเป็นการบอกกล่าวให้รับทราบเท่านั้น และ ท. มิได้มอบกุญแจรถยนต์ตู้เพื่อให้จำเลยนำรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์เพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท ดังนั้น การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
 
 
โดย ทนายความเชียงใหม่
 

กลับไปหน้า ความรู้กฎหมาย