สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมได้หรือไม่

บ่อยครั้งที่เห็นว่า มีสามีภริยาได้ทำร้ายร่างกายกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใด ก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากว่าเป็นการทำร้ายร่างกายกันถึงเลือดตกยางออกแล้ว ก็เป็นความผิดฐายทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และหากว่าการทำร้ายร่างกายนั้น ผู้ถูกทำร้ายต้องรักษาตัวถึงขนาดเกินกว่า 20 วันแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตร 297 ทั้งนี้ การทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่หากว่า การใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายในครอบครัวแล้ว ย่อมถือได้ว่า เป็นความอันอันยอมความได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง นั้นเอง ดังนั้น หากว่าเป็นการทำร้ายร่างกายกับในครอบครัวแล้ว จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ และเมื่อมีการตกลงถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องแก่กันแล้ว คดีอาญาย่อมสามารถระงับได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15667/2558


แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 295, 297 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน


จำเลยอุทธรณ์


ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และเป็นความผิดอันยอมความได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้อง ระบุว่า การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ และความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ได้ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลงโทษในสถานเบา เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย เห็นว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการทำร้ายของจำเลยไม่ร้ายแรงมากนัก ประกอบกับผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ก่อนลดโทษ จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน จำหน่ายคดีความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ออกจากสารบบความ

 

บทความที่น่าสนใจ

- อย่างไรเรียกว่า ข่มขืน สำเร็จ ตามกฎหมาย