สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญากู้ไม่ได้ระบุวันคืนเงินเอาไว้

สัญญากู้ไม่ได้ระบุวันคืนเงินเอาไว้มีผลเป็นอย่างไร
ในบางครั้งเป็นความหลงลืมของคู่สัญญาหรือเป็นความตั้งใจของคู่สัญญาที่จะไม่ระบุวันคืนเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอาไว้  ทำให้มีผลตามกฎหมายเป็นอย่างไรนั้น  วันนี้ท่านสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้ได้ 
ตามความคิดของผู้กู้อาจจะคิดว่า  ผู้กู้จะคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เมื่อไหร่ก็ได้  เพราะไม่ได้ระบุวันคืนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน  แต่ในทางกฎหมายแล้ว  การที่ไม่ได้ระบุวันคืนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเงินเช่นนี้  ย่อมเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระทันที  ทำให้เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แก่ผู้กู้ชำระหนี้ให้แก่ตนได้โดยทันที  และผู้กู้ก็สามารถที่จะชำระหนี้ของตนเองตามสัญญากู้ได้โดยทันทีเช่นกัน   ดังนั้น  จึงไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่เราๆ  คิดว่า  จะคืนเมื่อไหร่ก็ได้  ทั้งนี้  ข้อกฎหมายดังกล่าวได้มีคำพิพากษากำหนดไว้  ดังต่อไปนี้ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2545
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาอย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

สัญญากู้เงินลงวันที่ 12 มิถุนายน 2523 มีข้อตกลงว่าผู้กู้จะชำระหนี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง มิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้ไว้จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 13 มิถุนายน 2523 ตามมาตรา 193/3 วรรคสองและมาตรา 193/12

กฎหมายมิได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ ร. ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2523เมื่อ ร. นำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2531 เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ในวันถัดจากวันที่ได้มีการชำระหนี้คือ วันที่ 2 มิถุนายน 2531และจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง มาตรา 193/5 วรรคสอง และมาตรา 193/15 วรรคสอง

ร. ถึงแก่ความตายวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะต้องฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ร. ทั้งนี้มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของ ร. ตามมาตรา 193/23 เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. ถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. จะถึงแก่ความตายจะครบกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 อันเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ภายหลังจากที่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวฟังขึ้น ศาลฎีกาก็ยังไม่มีอำนาจวินิจัยให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์ได้ เนื่องจากมีประเด็นข้อพิพาทอีกหลายข้อที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยซึ่งต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2523 นางรัตนา สิงห์ปัน กู้เงินโจทก์ไป13,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนและจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับนางรัตนา นางรัตนาชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 มิถุนายน 2531 เป็นเงิน 600 บาทยังคงค้างชำระต้นเงิน 10,216.34 บาท ดอกเบี้ย 2,233.03 บาท แล้วไม่ได้ชำระหนี้อีกโจทก์มีหนังสือทวงถามให้นางรัตนา จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้ตามสัญญาต่อมาเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์ทราบว่านางรัตนาถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 2 กันยายน2532 จำเลยที่ 1 เป็นสามีและผู้ปกครองทรัพย์มรดกและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางรัตนา โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,840.16 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 31,056.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน10,216.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นสามีนางรัตนา สิงห์ปัน ต่อจดทะเบียนหย่ากันเมื่อปี 2524 จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ แต่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนางรัตนากู้เงินโจทก์วันที่ 12 มิถุนายน 2523 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงเลยเวลาก่อน 17 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของนางรัตนาผู้ตาย จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 กับนางรัตนา สิงห์ปัน เมื่อนางรัตนาถึงแก่ความตายไม่มีทรัพย์มรดกใด ๆ ตกทอดแก่จำเลยที่ 2 โจทก์รับชำระหนี้จากนางรัตนาทุกเดือนย่อมทราบว่านางรัตนาถึงแก่ความตายแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน2532 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ว่ารับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด และสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่า สำเนาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4พร้อมอุทธรณ์ หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มิได้คัดค้านคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่า รวมสำนวนส่งศาลฎีกาโดยเร็วเห็นว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแต่กรณีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่คัดค้านคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2523 นางรัตนา สิงห์ปัน กู้เงินไปจากโจทก์ สาขาเชียงราย จำนวน 13,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 นางรัตนา ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 มิถุนายน 2531 จำนวน 600 บาท และยังคงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2532 นางรัตนาถึงแก่ความตาย โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เห็นว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 4 มีข้อตกลงว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญานี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง มิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้ไว้ให้ปรากฏจึงต้องฟังว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีหลังจากที่ทำสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 13 มิถุนายน 2523 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง และมาตรา 193/12 และกฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นางรัตนาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2523เมื่อนางรัตนานำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2531 การกระทำดังกล่าวจึงฟังได้ว่า นางรัตนาได้ยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ในวันถัดจากวันที่ได้มีการชำระหนี้คือ วันที่ 2 มิถุนายน2531 และจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง มาตรา 193/5 วรรคสอง และมาตรา 193/15 วรรคสอง อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่านางรัตนาถึงแก่ความตายวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์จะยังคงอ้างอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวอีกต่อไปหาได้ไม่ เนื่องจากโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้นางรัตนาจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนางรัตนา ทั้งนี้มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่นางรัตนาถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของนางรัตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/23 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ทั้งนี้เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่นางรัตนาถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่นางรัตนาถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่กรณีนี้อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่นางรัตนาจะถึงแก่ความตายจะครบกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นอันเป็นระยะเวลาเกินกำหนด 1 ปี ภายหลังจากที่นางรัตนาถึงแก่ความตายแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย หรือไม่เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเสียก่อนว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องนางรัตนาถึงแก่ความตายตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แต่อย่างใด ทั้งคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมีเพียง 31,056.50 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงใด ๆ ของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นำสืบก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247

อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวฟังขึ้นก็ตามศาลฎีกาก็ยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์ได้ เนื่องจากมีประเด็นข้อพิพาทอีกหลายข้อที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้น อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มา387.50 บาท เกินไป 187.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาล 187.50 บาท ให้แก่โจทก์"

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นมี 187.50 บาท ให้แก่โจทก์