สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกมีจำนวน  2  ประเภทด้วยกัน  ได้แก่  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  และ  ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ( มาตรา 1711)
ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมนั้น  คือ  ผู้ทำพินัยกรรมหรือผู้เจ้ามรดกได้ระบุไว้ในพินัยกรรมว่า  ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหรือจัดการมรดกตามพินัยกรรมของตนเองได้  ซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้  2  ลักษณะได้แก่  ผู้ทำพินัยกรรมตั้งขึ้นเอง   หรืออีกกรณีหนึ่ง  บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นผู้ตั้งขึ้น  หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ระบุไว้ในมาตรา  1712  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บัญญัติว่า  “ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้  (1)โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง (2)โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง” 

ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล  คือ  ผู้ที่เป็นทายาท  หรือผู้มีส่วนได้เสีย  เกี่ยวกับกองมรดกจะร้องขอให้ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้  คำว่า  “ทายาท”  นั้น  จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายหรือเจ้ามรดกเท่านั้น  หากเป็นทายาทที่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแล้ว  ย่อมไม่มีสิทธิต้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกได้  ต่อไปจะอธิบาย  ทายาทใดบ้างเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก  ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจเสียก่อนว่า  หากมีทายาทชั้นใดที่อยู่ในอันดับต้นๆ  แล้ว  ทายาทอันดับถัดไปก็จะไม่ได้รับทรัพย์มรดก  หรือเรียกอีกอย่างว่า  ญาติสนิทตัดญาติห่าง  ทั้งนี้  กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา  1630  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ว่า  “ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629   ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย”  เมื่อเข้าใจแล้วว่า  ทายาทอันดับต้นๆ เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก  ต่อไปจะอธิบายในเรื่องของ  อันดับของทายาทต่อไป 

อันดับของทายาท  นั้น  มีจำนวน  6  อันดับ  และทายาทพิเศษอีก  1 อันดับ  ได้แก่  ทายาทชั้นที่  1  คือ  ผู้สืบสันดานได้แก่  ลูก  หลาน  เหลน  เป็นต้น  ทายาทชั้นที่ 2  คือ  บิดา  มารดา  ของเจ้ามรดก  ทายาทชั้นที่ 3  คือ  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ทายาทชั้นที่   4  คือ  พี่น้องร่วมบิดาหรือพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน  ทายาทชั้นที่  5  คือ  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ทายาทชั้นที่  6  คือ  ลุง  ป้า  น้า  อา  และทายาทพิเศษ  คือ  คู่สมรส 
ตามหลักเกณฑ์ที่ได้อธิบายไปแล้วว่า  ทายาทที่มีอันดับต้นๆ  จะได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก  ส่วนทายาทถัดชั้นลงมาจะไม่ได้รับทรัพย์มรดก  แต่ทายาทชนิดพิเศษหรือคู่สมรส  มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทชั้นอื่นๆ  ทุกชั้น  ส่วนรายละเอียดของทายาทชนิดพิเศษจะอธิบายในหัวข้อ  ทายาทพิเศษหรือทายาทประเภทคู่สมรสต่อไป  ส่วนทายาทชั้นที่  1  และ  ชั้นที่  2  จะมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเท่ากัน  เป็นข้อยกเว้น  มาตรา  1630   ยกตัวอย่างเช่น   นายร่ำรวยเจ้ามรดก  มีนายแดง  นางดำ  เป็นบิดามารดา  ยังมีชีวิตอยู่  มีนางเขียวเป็นภริยาจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย   มีบุตรร่วมกัน  จำนวน  2 คน  คือ นายมา  กับนางสาวสุดสวย  และมีนายใจ  และนางสาย  เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  มีนายดี  เป็นลุง  นายตาเป็นตา  จากหลักกฎหมายตามมาตรา  1630  และมาตรา  1629   เป็นกรณีญาติสนิทตัดญาติห่าง  ดังนั้นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก  คือ  นายแดง  นางดำ  นายมา  นางสาวสุดสวย  และนางเขียว  คนละส่วนเท่าๆกัน  ส่วนทายาทอื่นถูกตัดไม่ได้รับทรัพย์มรดกตามมาตรา 1630  ผู้มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกคือ    นายแดง  นางดำ  นายมา  นางสาวสุดสวย  และนางเขียว  เป็นต้น  หลักกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา  1629  ว่า  “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรค2  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้  คือ  (1)ผู้สืบสันดาน(2)บิดามารดา(3)พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน(4)พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน(5)ปู่  ย่า  ตา  ยาย  (6)ลุง  ป้า  นา  อา  วรรคสอง  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635”  ดังนั้น  ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกจะต้องมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกด้วย  โดยต้องพิจารณาอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  1626  ดังกล่าวเป็นข้อพิจารณา
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา  ดังนี้ 
ตัวอย่างที่  1  ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562)
ตัวอย่างที่  2  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558)
ตัวอย่าง ที่  3    ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005 - 7006/2555)

นอกจากทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิร้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้มีส่วนได้เสีย  ก็สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้  ผู้ร้องประเภทนี้  อาจจะไม่ได้มีส่วนได้เสียโดยตรงแต่เป็นมีบุคคลที่มีความสัมพันธ์  เช่น  บุตรของตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก  หรือแม้ภริยาเจ้ามรดกไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่ใช่ทายาทพิเศษ  แต่ภริยาเจ้ามรดกก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกได้  เนื่อง
 
 

เป็นทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน   หรือเป็นผู้ที่เจ้ามรดกแต่งตั้งให้แกเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม  ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก  เจ้าหนี้กองมรดกสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้  แต่มีเงื่อนไขว่า  จะต้องไม่มีทายาท และผู้จัดการมรดกเลย  เป็นต้น  ดังนั้น  ผู้ที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการต่อไปได้นั้น  จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย  ดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา
ตัวอย่างที่  1  แม้ที่ดินและหุ้นจะได้มาในระหว่างโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินและหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ฟังข้อเท็จจริงเพียงว่า เมื่อโจทก์เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์อาจมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องการมีส่วนได้เสียเพียงเพื่อวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมทำมาหาได้กับผู้ตายหรือไม่ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคู่ความให้ต้องรับฟังว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกึ่งหนึ่ง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12734/2558)
ตัวอย่างที่  2  ผู้เยาว์เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก    ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558)
ตัวอย่างที่  4  แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2556)
ตัวอย่างที่ 5  เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย แต่เมื่อกองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้วก็มีตัวทายาทที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว จึงมีผู้รับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545)

บุคคลที่ไม่อาจะเป็นผู้จัดการมรดกได้  มีดังนี้  ทายาทที่ไม่มีสิทธิรับมรดก  ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะแม้จะเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกก็ตาม  บุคคลวิกลจริต  หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ  และบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย  (มาตรา  1718 )

ทั้งนี้  ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก  หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน  ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับ  ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา  1601  บัญญัติว่า  “ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน”

ต่อเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก  
สิทธิของผู้จัดการมรดกนั้น  ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย  แต่อาจจะพิจารณาได้จากกฎหมายลักษณะมรดกว่า  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายกฎหมายกำหนดไว้ในอัตราส่วนนั้นๆ  เท่านั้น 
นอกจากนั้น  ผู้จัดการมรดกยังไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือบำเหน็จจากกองมรดก  เว้นแต่ทายาทเสียงข้างมากจะกำหนดให้ไว้( มาตรา 1721)
หน้าที่ของผู้จัดการมรดก 
1.ผู้จัดการมรดกจะต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน  1  เดือน  นับแต่ได้รับการแต่งตั้งให้แก่ผู้จัดการมรดก  แต่ทั้งนี้  หากใกล้ครบกำหนดอาจขอขยายระยะเวลาดังกล่าวได้  ( มาตรา  1728 )  โดยวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้น  จะต้องกระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย  2  คน  ซึ่งเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย  ผู้จัดการมรดกไม่ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้  หรือทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลแล้ว  บุคคลนั้นอาจถูกเพิกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้(มาตรา  1731 )
2.ผู้จัดการมรดกต้องทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายใน  1  ปี  นับแต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก หรือนับแต่ตามมาตรา  1728  แล้วแต่กรณี  ระยะเวลา  1  ปีนั้น  อาจจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ตามที่ทายาทเสียงข้างมากหรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  (มาตรา1732)
3.ผู้จัดการมรดกต้องชำระหนี้โดยใช้ทรัพย์สินของกองมรดกชดใช้หนี้กองมรดกเป็นลำดับดังนี้
1.ค่าใช่จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก  2.ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก3.ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่ 4.ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน  คนใช้และคนงาน  5.ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก  6.หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก  7.บำเหน็จของผู้จัดการมรดก (มาตรา  1739)

ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า  การเป็นผู้จัดการมรดกนั้น  มีแต่หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อทายาท  ไม่ใช่อย่างที่หลายๆคนเข้าใจว่า  หากเป็นผู้จัดการมรดกแล้วย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมด