สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในสมุดเช็คของผู้อื่นมีความผิดหรือไม่

                เช็คเป็นเอกสารที่ใช้สำหรับชำระหนี้แทนเงินสด  หากว่าเช็คนั้นสามารถขึ้นเงินและธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงินตามเช็ค  ทำให้มีผลทำให้หนี้ระหว่างผู้ออกเช็คและผู้ทรงเช็คหรือผู้ได้รับเช็คซึ่งเป็นเจ้าหนี้นั้นระงับสิ้นไป  เช็คจึงเปรียบเสมียนเป็นเงินสดไว้ใช้สำหรับชำระหนี้  รัฐจึงออกกฎหมายมาเพื่อกำกับดูแลเช็คให้มีความศักดิ์สิทธิ์และมีความน่าเชื่อถือในตัวเองมากที่สุด  ดังนั้น  จึงตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดโทษทางอาญาเอาไว้  นั้นหมายความว่า  พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔  เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย  โดยบัญญัติไว้อยู่ในมาตรา  ๔  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน  ๑  ปี
การออกเช็คไม่ว่าจะออกเช็คในสมุดเช็คของผู้อื่น  และธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค  ผู้ออกเช็คย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔  มาตรา ๔  เนื่องจากเป็นการกระทำผิดที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น 
ดังนั้น  สรุปว่า  การออกเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในสมุดเช็คของผู้อื่นมีความผิดตามกฎหมาย 

                หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติว่าความรับผิดอันเกิดจากการใช้ พ.ศ.๒๕๓๔

มาตรา ๔  ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

                    วรรคสอง เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6230/2544
จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้เงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1ได้กรอกรายการและลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายร่วมกับจำเลยที่ 2 และสลักหลังในเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาท แม้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของบัญชีก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายการที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ตามสัญญากู้เงินแล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว ถือว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) จำคุก 1 ปีส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทซึ่งมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยทียังมิได้กรอกข้อความมากรอกรายการในเช็ค แล้วจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมทั้งลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้โจทก์ ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ยืม จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 และนายฮานาฟีร่วมกันกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 3,100,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 มอบให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายก่อนแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้กรอกรายการและลงลายมือชื่อในช่องผู้สั่งจ่ายและสลักหลังในเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่าได้ทำสัญญากู้เงินเพราะต้องการเงินไปชำระค่าตั๋วเครื่องบินทั้งยอมรับว่าลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 อันไปเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ยิ่งกว่านั้นตามใบรับเช็คมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 1 และข้อความในสัญญากู้เงินข้อ 7 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้นั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้นทั้งเมื่อศาลได้พิจารณาสัญญากู้เงินแล้ว ไม่มีข้อความเกี่ยวกับเช็คพิพาทตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างแต่อย่างใด คงมีแต่เพียงว่าการกู้เงินครั้งนี้ผู้กู้ได้นำโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักประกันเท่านั้น อีกทั้งที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ทราบว่าเช็คพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความต่าง ๆ ในเช็คพิพาท ทั้งให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้สั่งจ่ายร่วมกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบและผิดกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาท แม้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของบัญชีก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว ถือว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

 

บทความอื่นที่น่าจะสนใจ

-การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่บังคับได้

- ไม่ได้ลงวันที่ในเช็คจะมีความผิดหรือไม่

-จงใจลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารจะมีผลอย่างไร

-สัญญากู้ระบุว่าเช็คค้ำประกันแต่เจตนาเพื่อชำระหนี้เงินกู้