สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

คุณรู้หรือไม่ ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิหักหนี้ของลูกหนี้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ก่อน

                ในบางครั้งเจ้าหนี้ต้องการหักหนี้ของตนกับหนี้ตามมีต่อลูกหนี้นี้ แต่ไม่รู้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ กฎหมายได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา 341  ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341  ได้กำหนดว่า
1.บุคคลสองคนต่างมีหนี้ต่อกัน
2.หนี้เป็นวัตถุเดียวกัน
3.และหนี้ทั้งสองต้องถึงกำหนดชำระแล้ว
ข้อสังเกตว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
แต่หลักเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อโต้แย้ง

โดยทนายความเชียงใหม่ ขอเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาเป็นแนวทางในการศึกษากรณีดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2545 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ไม่ได้กำหนดว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งดังนั้นเมื่อการฝากเงินของโจทก์ไว้กับธนาคารจำเลยไม่มีการกำหนดเวลาคืนเงินฝากไว้แน่นอน ต้องถือว่าหนี้เงินฝากถึงกำหนดชำระหนี้ทันทีที่โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลย และการกู้เงินและรับฝากเงินระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันมาหักกลบลบกันไว้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเงินฝากในบัญชีของโจทก์ไปหักกลบลบกับหนี้ที่โจทก์กู้เงินไปจากจำเลยที่ถึงกำหนดชำระแล้วได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 5268/2557 จำเลยให้การว่า บริษัท ม.คู่สัญญาปฏิเสธความรับผิด แสดงว่าหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้ บริษัท ม. คู่สัญญาไม่ยอมรับ จึงเป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 344 จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารบริษัท และบริษัท ม. แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว การโอนหนี้จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง