สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วต้องทำอย่างไร

ทนายความใหม่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ์และหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งการครอบครองปรปักษ์นี้ เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ใดที่มีที่ดินเป็นจำนวนมากหรือมีที่ดินแต่ไม่ได้ดูแลทำให้รกร้างว่างเปล่า จนมีผู้ที่ต้องการที่ดินเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นระยะเวลานานกว่า ๑๐ ปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เพราะกฎหมายประสงค์ให้ประชาชนใช้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ไม่ใช่มีที่ดินเพื่อเป็นทรัพย์สิน ดังนั้นจึงบัญญัติกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา
กฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
หลักเกณฑ์การจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น มาตรา 1382 กำหนดไว้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นระยะเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าว ส่วนการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นระยะเวลา 5 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าว
ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ปากกา ดินสอ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ทรัพย์สินเรียกง่ายๆว่า เป็นทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า สังหาริมทรัพย์
ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เช่น ภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นที่ดิน สิทธิอาศัย สิ่งที่กล่าวมานี้เรียกว่า อสังหาริมทรัพย์
และในบทความนี้ เมื่อได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว ต้องครอบครองอย่างไร ตามมาตรา 1382 กำหนดว่า ต้องครอบครองโดยสงบและเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้น
คำว่า คออบครองโดยเปิดเผย การที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องเป็นการครอบครองโดยเปิดเผยต่อสาธารณะใครๆ ก็ทราบว่าเราได้ครอบครองที่ดินผืนนี้อยู่เป็นต้น
ส่วนคำว่า สงบ นั้น จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยไม่มีข้อโต้แย้งการครอบครองของผู้นั้น เช่น การครอบครองที่ดินของผู้อื่นๆ โดยใครๆก็รู้และยอมรับว่า ที่ดินผืนนี้ผู้นั้นได้ครอบครองที่ดินอยู่และไม่มีใครมาฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาล หรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจหรือพนักงานสอบสวนว่า ได้มีการบุกรุกที่ดินของผู้อื่น เป็นต้น พฤติการณ์เหล่านี้เรียกว่า สงบ
และในส่วนประกอบสุดท้ายก็คือ เจตนาเป็นเจ้าของ เป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินเพื่อตนเองไม่ได้ครองครอบที่ดินเพื่อผู้อื่น เช่น เข้ามาครอบครองที่ดินแล้วทำมาหาค้าขาย เข้ามาครอบครองที่ดินแล้วทำไร่ทำนาทำสวน เข้ามาครอบครองที่ดินแล้วมาอาศัยอยู่ปลูกบ้านบนที่ดินลักษณะถาวร เป็นต้น พฤติการณ์เหล่านี้เรียกว่า เป็นการครองครอบเพื่อตนเอง แต่หากมีพฤติการณ์ว่า เข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นเนื่องจากเช่าที่ดินของผู้อื่น เข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นเพราะผู้อื่นจ้างวานให้ทำกิน เหล่านี้ ไม่ใช่การครอบครองที่ดินเพื่อตนเอง แม้จะครอบครองที่ดินของผู้อื่นนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
ดังนั้น ตามมาตรา 1382  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นนั้น จะต้องมีองค์ประกอบตามกฎหมายด้วยกัน 4 ประการ คือ ครอบครองโดยเปิดเผย ครอบครองโดยสงบ ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ และการครอบครองติดต่อกันครบ 10 ปี เมื่อครบทั้ง 4 ประการแล้ว ผู้นั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 เป็นเพียงบุคคลสิทธิเท่านั้น กล่าวคือ คำว่า บุคคลสิทธิ เป็นการมีผลบังคับได้กับเจ้าของที่ดินกับผู้ที่ครอบครองที่ดินเท่านั้น แต่เจ้าของที่ดินนั้นให้หมายความรวมถึง ทายาทของเจ้าของที่ดินนั้น และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่บังคับที่ดินออกขายทอดตลาด นอกจากนั้น ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายจะได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แบบ จะต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลหรือฟ้องคดีต่อศาลกับเจ้าของที่ดิน เพื่อให้มีผลเป็นการได้กรรมสิทธิ์ให้ฐานะทรัพยสิทธิ ซึ่ง คำว่า ทรัพยสิทธิ นั้น คือสามารถใช้ยันกับบุคคลได้ทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง  
โดยมาตรา 1299 วรรคสอง กำหนดผลของการไม่ได้ร้องของต่อศาลหรือฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลอนุญาตให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดินฯ เพื่อให้มีกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนได้ อยู่ 2 ประการคือ
1.จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ นั้นหมายความว่า ผู้ครอบครองปรปักษ์จะไปดำเนินการจดทะเบียนจำนองกับธนาคารไม่ได้ ผู้ครอบครองปรปักษ์จะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เป็นต้น

                2.สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว นั้นหมายความว่า ผู้ครอบครองปรปักษ์จะ

ยกเอาข้อต่อสู้ว่าตนเองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วห้ามผู้ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมมาเกี่ยวข้องในที่ดินไม่ได้
ดังนั้น การที่ผู้ครอบครองที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์โดยกฎหมาย จะต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลหรือไม่ก็ต้องฟ้องคดีต่อเจ้าของเดิมที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ครอบครองที่ดินได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นทรัพย์สิทธิตามกฎหมาย
กรณีการครอบครองปรปักษ์นั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักเกณฑ์และเป็นกรณีศึกษาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2552 บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อธนาคาร ก. เป็นทั้งผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิมและยังเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ธนาคาร ก. จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

เมื่อธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่ผู้ซื้อว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ถือว่าธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันธนาคาร ก. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. ภายใน 10 ปี นับแต่วันรับโอนจากธนาคาร ก. และรับโอนโดยไม่สุจริตก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครองครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนคนต่อมาได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ธนาคาร ก. ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตตอนแรก แม้ผู้ร้องจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การครอบครองในช่วงหลังที่ธนาคาร ก. และผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์มา เมื่อนับถึงวันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วด้วยหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551 จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2548    การที่จำเลยและมารดาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ ป. เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ ล. เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. จำเลยก็ยังเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทตลอดมานั้น ถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทของ ป. ทุกคน เพราะยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่ทายาทโดยชัดเจน แต่เมื่อ ล. ดำเนินการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแก่ทายาทของ ป. มารดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ป. ปฏิเสธไม่ยอมรับที่ดินที่แบ่งแยกให้โดยยืนยันต่อทายาทอื่นๆ ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว จะไม่ยินยอมยกให้ใคร จึงเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว และเมื่อภายหลังจาก ก. รับโอนที่พิพาทจาก ล. ผู้จัดการมรดกแล้ว ก. ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กลับปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองตลอดมา เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทจาก ก. เกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ก. โดยรู้ดีว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตอันจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นการทำให้จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ