สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๖๔  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม  หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน
วรรคสอง  ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร์  เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ  ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง  ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร์  จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้  ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี  ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้

                การที่มีทรัพย์สินอันมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่นั้น  หากว่าว่าเจ้าของรวมต้องการแบ่งปันทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมแล้ว  จะต้องดำเนินการแบ่งปันโดยต้องเกิดจากการกระทำของเจ้าของกรรมสิทธิ์ครบทุกคน  หากไม่ได้เกิดจากการกระทำหรือแสดงเจตนาของเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนแล้ว  การแบ่งในคราวนั้นก็เป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

                คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างที่  ๑  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2558  คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทด้วยกันเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและเจ้าของรวมทุกคนพึงแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน หรือโดยขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ลำพังเพียงโจทก์เจรจากับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายจากทายาทอื่นให้เป็นตัวแทนเจรจากับโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าของรวมไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้อันเป็นเหตุยึดทรัพย์มรดกมาขายทอดตลาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง เมื่อถือไม่ได้ว่าการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นไปตาม ลำดับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินจึงต้องเพิกถอนการยึดทรัพย์มรดกเสีย

                ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของนางนิภาให้แก่             โจทก์ 1 ใน 7 ส่วน ของรายการทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ทรัพย์มรดกส่วนที่เป็นหุ้นบริษัทง่วนหลีจั่น (1984) จำกัด เป็นทรัพย์สินของนางนิภาที่ตกเป็นมรดก 25,000 หุ้น หุ้นบริษัทสยามผลิตภัณฑ์กระดาษ จำกัด เป็นทรัพย์สินของนางนิภาที่ตกเป็นมรดก 300 หุ้น ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันจ่ายค่าทนายความชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ 6,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ขอให้ออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2553

 
 

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีที่ยึดที่ดินดังกล่าว หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนและมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้เป็นไปตามคำพิพากษาเป็นอันดับแรก โดยให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกตามกฎหมายก่อน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการแต่อย่างใด หากไม่อาจตกลงแบ่งกันได้จึงจะบังคับคดีได้ตามขั้นตอนโดยการประมูลขายทรัพย์มรดกหรือขายทอดตลาดเป็นลำดับต่อมา ดังนั้น หากการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการไปตามนี้ก็เป็นการบังคับคดีโดยชอบ หากไม่ดำเนินการตามนี้ก็เป็นการบังคับคดีโดยไม่ชอบ
วันที่ 6 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีที่โจทก์นำยึดที่ดินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนการยึดตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งที่ 3869/2556 วันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 จำเลยที่ 5 กับผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ตกลงกันว่าฝ่ายจำเลยที่ 5 จะให้เงิน 1,200,000,000 บาท แก่โจทก์ แล้วให้ทรัพย์มรดกพิพาททั้งหมดตกเป็นของจำเลยที่ 5 แต่จำเลยที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินมรดกของนางนิภาและนำออกขายทอดตลาดได้ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของนางนิภาร่วมกันครอบครองดูแลทรัพย์มรดกของนางนิภาและไม่ยอมแบ่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทด้วยกัน คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกของนางนิภาให้แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและเจ้าของรวมทุกคนพึงแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันหรือโดยขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ลำพังเพียงแต่โจทก์เจรจากับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกส่วนแบ่งคนหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายจากทายาทอื่นให้เป็นตัวแทนเจรจากับโจทก์ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าของรวมไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นตามลำดับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สิน และบัดนี้มรดกของนางนิภาได้มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และผู้จัดการมรดกก็ได้เข้ามาดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกแล้ว ทรัพย์มรดกจึงอยู่ในระหว่างจัดการ ย่อมจะทำให้การแบ่งปันมรดกดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์แก่ทายาททุกคน คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนการยึดที่ดินของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับนคดีดังกล่าว