สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

คู่สมรสเป็นพยานในสัญญาจำนองถือว่าเป็นหนี้สมรสหรือไม่

นอกจากสินสมรสแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้การก่อหนี้ระหว่างสมรส ถือว่าเป็นหนี้สมรส ซึ่งสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันในหนี้สมรสนั้น โดยกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในมาตรา ๑๔๘๙ และมาตรา ๑๔๙๐ ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1489  ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

 

มาตรา 1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้ (1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ (2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส (3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน (4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

 

ส่วน กรณี คู่สมรสเป็นพยานให้สัญญาจำนองถือว่าเป็นหนี้สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4963/2558

จำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ไปจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องลงชื่อเป็นพยานในการทำนิติกรรม แสดงให้เห็นถึงผู้ร้องได้ทราบดีแล้วว่าจำเลยที่ 3 จะนำสินสมรสไปจำนองเป็นประกันหนี้ การทำนิติกรรมของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรสเนื่องจากเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ให้จำเลยที่ 1 ก็เป็นการขายให้แก่นิติบุคคลซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ และการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจำนองโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ยังคงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทั้งหลายเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส ถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องตามมาตรา 1490 เช่นกัน นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องติดใจในสินสมรส คือโฉนดที่ดินเลขที่ 16985 แต่ประการใด โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยเป็นเวลา 11 ปีเศษ ผู้ร้องเพิ่งมายื่นขอกันส่วน ดังนั้น เมื่อหนี้ระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องเป็นหนี้ร่วมแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วน

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องครึ่งหนึ่งออกจากทรัพย์ที่ถูกยึด

โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2532 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2543 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการ กรรมการคนหนึ่งคนใดลงลายมือชื่อประทับตรามีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 วันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 3 และนางสาวพรศรี ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา ต่อมามีการปลูกบ้านเลขที่ 23 หมู่ที่ 12 บนที่ดินแปลงดังกล่าว วันที่ 9 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 3 และนางสาวพรศรีนำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 จำนองเป็นประกันแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการจำนองที่ดินดังกล่าวนางสาวพรศรีมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดิน โดยจำเลยที่ 3 และผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะพยาน วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ให้จำเลยที่ 1 วันที่ 9 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ไปจำนองประกันหนี้โจทก์ ปี 2554 จำเลยที่ 3 แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าที่ดินถูกยึดไปขายทอดตลาดขอให้ผู้ร้องไปขอกันส่วน ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 หรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อเป็นพยานนั้นก็เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 จำนองเป็นประกันแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อปลูกสร้างบ้านเลขที่ 23 ซึ่งมีราคาสูงถึง 7,000,000 บาท เท่านั้น หาได้มีเจตนายินยอมและหรือรับรู้ให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายรวมทั้งขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 และจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ซึ่งในวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ได้หย่าขาดจากกันแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ทราบถึงนิติกรรมดังกล่าว ผู้ร้องจึงมิได้เป็นหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิขอกันส่วนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 บัญญัติว่า หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรสดังต่อไปนี้ (2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส การที่จำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ไปจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2537 โดยผู้ร้องลงชื่อเป็นพยานในการทำนิติกรรม แสดงให้เห็นถึงผู้ร้องได้ทราบดีแล้วว่าจำเลยที่ 3 จะนำสินสมรสไปจำนองเป็นประกันหนี้ การทำนิติกรรมของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรสเนื่องจากเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ให้จำเลยที่ 1 ก็เป็นการขายให้แก่นิติบุคคลซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ และการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจำนองโจทก์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 3 ก็ยังคงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทั้งหลายเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส ถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องตามมาตรา 1490 เช่นกัน นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2543 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องติดใจในสินสมรส คือโฉนดที่ดินเลขที่ 16985 แต่ประการใด โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยเป็นเวลา 11 ปีเศษ ผู้ร้องเพิ่งมายื่นขอกันส่วนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้ระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องเป็นหนี้ร่วมแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของผู้ร้องจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาแต่อย่างใด คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร