สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจากการที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ถอนเงินฝากโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนขอค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 350,000 บาท และโจทก์ไม่สามารถนำเงินจากบัญชีพิพาทไปร่วมลงทุนกับญาติทำการค้าขายเครื่องยนต์เก่าและเครื่องมือช่างได้ ทำให้ขาดกำไรเป็นเงินวันละ 1,000 บาท ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษซึ่งคู่กรณีต้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2423/2551

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงิน 1,040,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่อาจลงทุนประกอบกิจการค้าได้เป็นเงินวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ (ที่ถูกต้องพิพากษาแก้เป็นว่า) ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมนายทองเป็นผู้ฝากเงินประเภทฝากประจำ จำนวน 700,000 บาท กับจำเลยสาขาพระประแดง ตามคำขอเปิดบัญชีพร้อมตัวอย่างลายพิมพ์นิ้วมือและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.1 ต่อมานายทองถึงแก่กรรม โจทก์ไปยื่นคำขอเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวโดยแจ้งว่าสมุดบัญชีเงินฝากหายไป พร้อมกับแสดงสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.3 นายวิรัชผู้จัดการสาขาพระประแดงของจำเลยเห็นว่า ตามเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.2 ระบุว่า เมื่อนายทองถึงแก่กรรมให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเบิกถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว นายวิรัชจึงอนุมัติให้โจทก์ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปได้ ต่อมานายสุวัฒน์บุตรของนายทองอีกคนหนึ่งนำสมุดบัญชีเงินฝากประจำของนายทองมาสอบถามว่าเงินในบัญชียังคงอยู่หรือไม่ เมื่อทราบว่าโจทก์ถอนเงินในบัญชีไปหมดแล้วนายสุวัฒน์จึงทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.8 ร้องเรียนไปยังจำเลยสำนักงานใหญ่ จำเลยสำนักงานใหญ่ทำการตรวจสอบแล้วมีคำสั่งให้จำเลยสาขาพระประแดงติดตามเงินที่โจทก์เบิกถอนไปกลับคืนมา นายวิรัชติดต่อกับโจทก์และโจทก์ยินยอมนำเงินจำนวน 700,000 บาท กลับมาฝากที่จำเลยสาขาพระประแดงในนามของโจทก์เนื่องจากบัญชีของนายทองปิดไปแล้ว ต่อมาโจทก์เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวทั้งหมดแล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่ 037-1-29xxx-x ตามเอกสารหมาย จ.2 จำนวนเงิน 690,000 บาท ซึ่งเป็นบัญชีพิพาท นายวิรัชปรึกษาไปยังจำเลยสำนักงานใหญ่ ได้รับแจ้งว่าให้ระงับการเบิกถอนเงินจากบัญชีพิพาทไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เรียบร้อยเสียก่อน และในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายทองแล้วตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.12

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ขอเบิกถอนเงินจากบัญชีพิพาทหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์เปิดบัญชีพิพาทกับจำเลยสาขาพระประแดง เป็นสัญญาฝากทรัพย์ ต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 เมื่อโจทก์ขอเบิกถอนเงิน จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท แต่ตามคำฟ้องและคำให้การมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิระงับการเบิกถอนเงินของโจทก์จากบัญชีพิพาทหรือไม่ และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ผู้ฝากเงินกับธนาคารมีนิติสัมพันธ์กันตามลักษณะฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 บัญชีพิพาท ถือมิได้ว่าเป็นบัญชีเงินฝากของนายทอง ดังนั้น จำเลยผู้รับฝากเงินจึงไม่มีสิทธิระงับการเบิกถอนเงินของโจทก์ผู้ฝากเงินจากบัญชีพิพาท เมื่อโจทก์ขอเบิกถอนเงินจำเลยต้องคืนเงินฝากให้แก่โจทก์ ครั้นเมื่อจำเลยอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อนายทองถึงแก่กรรมและไม่มีการทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นเงินในบัญชีเงินฝากของนายทองย่อมตกเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมของนายทองทุกคน พฤติการณ์ของโจทก์ที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนำสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานว่าสมุดเงินฝากของนายทองหายไป ไปขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายทองโดยอาศัยข้อความที่พิมพ์เพิ่มในบัตรตัวอย่างลายพิมพ์นิ้วมือเอกสารหมาย ล.1 ว่า เมื่อนายทองถึงแก่ความตายให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินได้แต่เพียงผู้เดียว เป็นพิรุธสงสัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบต่อจำเลยในลักษณะเป็นการหลอกลวงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จได้รับเงินจากจำเลยโดยปราศจากมูลอันจะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปรากฏว่านายสุวัฒน์มาแสดงตนเป็นทายาทของนายทองอีกคนหนึ่งและสมุดเงินฝากของนายทองยังอยู่ ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจไปได้ว่าจำเลยอาจต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่กองมรดกของนายทอง ซึ่งหากจำเลยต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายจริง ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกเอาเงินคืนจากโจทก์ได้ในมูลละเมิดหรือลาภมิควรได้ แม้จะถือไม่ได้ว่าเงินตามบัญชีพิพาทเป็นทรัพย์สินของนายทองอีกต่อไป แต่การที่โจทก์ปิดบัญชีพิพาทกับจำเลยย่อมทำให้จำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิในการคืนเงินแก่โจทก์ และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้ได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 เท่ากับวินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินฝากในบัญชีพิพาทหรือไม่ ทั้งเป็นการก้าวล่วงไปวินิจฉัยในเรื่องมรดกว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินฝากเพื่อคุณประโยชน์ของทายาทอื่นของนายทองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันเป็นการนอกเหนือไปจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 บัญญัติไว้ว่า ให้ยึดหน่วงได้เฉพาะหนี้อันเป็นคุณประโยชน์กับคู่กรณีเท่านั้นจึงเป็นการผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์และจำเลยโต้แย้งกัน รวมทั้งก้าวล่วงไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องเอกสารการเปิดบัญชีเงินฝากประจำของนายทองที่ตามคำฟ้องของโจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันให้เห็นเป็นอย่างอื่นอีกด้วยว่ามีลักษณะเป็นการหลอกลวงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การ เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และเมื่อปรากฏว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก.." และวรรคสอง บัญญัติว่า "แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท" เมื่อข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่า หลังจากโจทก์เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนายทองไปแล้ว แม้ว่าต่อมาโจทก์นำเงินมาฝากตามบัญชีพิพาทในนามของโจทก์เท่ากับโจทก์เป็นผู้ฝากเงินตามบัญชีพิพาท ส่วนปัญหาที่ว่าเงินในบัญชีพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ บรรดาทายาทต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลแพ่งธนบุรี มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลย จำเลยรับว่าจะคืนเงินให้แก่ทายาทที่ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองต่อไป เงื่อนไขอันเป็นข้อต่อสู้เรื่องระงับการเบิกถอนเงินของจำเลยหมดสิ้นไปแล้ว ส่วนการที่โจทก์เบิกเงินฝากประจำของนายทองไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง และจำเลยยินยอมให้โจทก์เบิกเงินดังกล่าวไปได้ ก็ถือเป็นการยอมรับความเสี่ยงภัยของจำเลยเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคสอง ไม่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากพิพาท ดังนั้น เมื่อโจทก์ประสงค์จะถอนเงินฝากจากบัญชีพิพาท จำเลยก็ต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคแรก เมื่อโจทก์ไปยื่นคำขอเบิกเงินจากบัญชีพิพาทจากจำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 แต่จำเลยระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อน ขอค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 350,000 บาท และโจทก์ไม่สามารถนำเงินจากบัญชีพิพาทไปร่วมลงทุนกับญาติทำการค้าขายเครื่องยนต์เก่าและเครื่องมือช่างได้ ทำให้ขาดกำไรเป็นเงินวันละ 1,000 บาท ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษซึ่งคู่กรณีต้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง คดีนี้โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ส่วนดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องจำเลยยอมรับมาในคำให้การว่าจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตลอดเวลาที่ฝากเงิน โดยในขณะยื่นคำให้การอัตราร้อยละ 3.25 ต่อปี ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องตามที่จำเลยยอมรับ"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 690,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร