สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

มอบเงินเพื่อวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งไม่อาจเรียกคืนได้

จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใดอยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้งที่ต้องพิจารณาจากคุณสมบัติและความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ตามระบบคุณธรรม เพื่อให้ได้ข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น เพื่อให้ภารกิจของทางราชการสัมฤทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ แม้โจทก์จะมีอาวุโสอยู่ในลำดับที่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับการอยู่แล้ว ก็ไม่แน่ว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรบางบาลตามความต้องการของโจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้

กำกับการตำรวจภูธรบางบาล โดยมีค่าวิ่งเต้น 500,000 บาท โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์เข้ามาแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคม ทั้งยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเหมาะสม แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน ย่อมจะต้องทราบดีว่าการวิ่งเต้นเพื่อให้ตนเองได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามที่ต้องการเป็นการกระทำที่มิชอบ ไม่อาจบังคับกันได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และ 411 ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จริงตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร