สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ซื้อที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

หลายๆ ท่านในที่นี้ คาดว่าน่าจะมีความคิดในการซื้อที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนอยู่ด้านหลังเอกสารสิทธิ
ซึ่งจะมีข้อคิดว่า การซื้อที่ดินดังกล่าวท่านจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น หรือไม่ และหากไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้วท่านจะสูญเสียเงินจากการซื้อที่ดินนั้นหรือไม่
ปัญหาเหล่านี้ นำมาสู่ข้อกฎหมายว่า ท่านได้สิทธิครอบครองในที่ดินมีที่ข้อกฎหมายห้ามโอนหรือไม่ อย่างไร
 
จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู้ข้อกฎหมายดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า หากผู้ขายได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินแล้ว ผู้ซื้อได้เข้าครอบครองที่ดินยึดถือเพื่อตนแล้ว ผู้ซื้อย่อมได้สิทธิครอบครอง แต่ต้องไม่ขัดต่อข้อกำหนดห้ามโอน ดังนั้น จากหลักกฏหมายดังกล่าว จะต้องพ้นกำหนดห้ามโอน ผู้ซื้อก็จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวโดยปริยาย
 
จากกรณีตามปัญหามีคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาล ตัดสินไว้ดังนี้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12473/2553การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. โดยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ป. โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่ จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า ป. และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 (ประเด็นนี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่
 
 
 
โดย ทนายความเชียงใหม่
 

กลับไปหน้า ความรู้กฎหมาย