สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ไม่ได้ลงวันที่ในเช็คจะมีความผิดหรือไม่

การออกเช็คจะต้องมีการระบุข้อความในเช็คให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ที่สำคัญจะต้องมีการลงวันที่ในเช็คด้วย ได้ลงวันที่ในเช็คนั้นหมายความว่า เมื่อถึงเวลาตามที่ระบุไว้ในเช็คแล้ว ผู้ทรงเช็คหรือผู้ที่มีเช็คอยู่ในมือสามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ ดังนั้น วันที่ในเช็คย่อมมีความสำคัญ หากไม่มีการลงวันที่ในเช็คแล้ว ในทางกฎหมายแล้ว  ย่อมสามารถแบ่งออกได้เป็น  2  กรณี  คือ  การรับผิดในทางแพ่ง  และ  การรับผิดในทางอาญา  ซึ่งในทางแพ่งนั้น  ผู้ทรงเช็คสามารถระบุวันที่จ่ายเงินตามเช็คได้ตามความเป็นจริงย่อมมีผลเป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมาย  หากปรากฏว่า  เช็คไม่สามารถจ่ายเงินได้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะ  เงินในบัญชีไม่พอจ่าย  บัญชีปิด  หรือแม้แต่ผู้ออกเช็คสั่งให้ธนาคารห้ามจ่ายเงินตามเช็ค  เป็นต้น  ผู้ทรงเช็คย่อมสามารถเช็คและใบคืนเช็คไปดำเนินฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ออกเช็ค  และผู้สลักหลังได้  ส่วนกรณีของการออกเช็คแล้วไม่มีเงินพอจ่าย  หรือบัญชีปิด  หรือเป็นคำสั่งของผู้ออกเช็ค  เป็นความผิดในทางอาญาด้วย  กฎหมายที่เข้ามาบังคับใช้คือ  พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534  โดยกำหนดหลักเกณฑ์และโทษจำคุกไว้ว่า  มาตรา 4  "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้     (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น    (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้    (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น     (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้         

 

(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต    เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"  ซึ่งจากกฎหมายดังกล่าว  ใช้คำว่า  ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย  ย่อมจะต้องมีการกระทำความผิดที่จะต้องระบุวันที่ออกเช็คได้  เมื่อในข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวปรากฏว่า  ผู้ออกเช็คไม่ได้ระบุวันที่ออกเช็ค  ย่อมถือว่าไม่ได้มีวันที่ในการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534  ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายที่ทนายความเชียงใหม่ได้เสนอให้แก่ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วนั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11401/2556สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด