ประมวลกฎหมายอาญา |
---|
มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18043/2555 ในคดีส่วนแพ่งเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341 และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำนวน 2,060,000 บาท ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงเงินผู้เสียหายไปและผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินคืนจำนวน 2,060,000 บาท แม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายแถลงติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในส่วนแพ่งเป็นเงิน 400,000 บาท ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงกันเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายทางแพ่งตามฟ้อง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็แถลงต่อศาลว่าผู้เสียหายยังติดใจให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ขอท้ายฟ้อง ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341 ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ระหว่างพิจารณาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่า จำเลยได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์แล้ว คณะกรรมการโจทก์มีมติให้ถอนฟ้องจำเลยและไม่ติดใจว่ากล่าวคดีนี้อีก จำเลยไม่คัดค้านและท้ายคำร้องลงลายมือชื่อจำเลยไว้ด้วย คำร้องขอถอนฟ้องโจทก์เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555 จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554 แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553 ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" คำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13412/2553 ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือให้เงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12603/2553 ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 โดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 341 แต่ความผิดฐานดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรกได้ ไม่เป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11776/2553
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเพื่อขอกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ตามทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเรื่องหลอกลวงมารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงิน ซึ่งจำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวง เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ดังนั้น ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จึงเป็นผู้เสียหายในคดีฉ้อโกงด้วยคนหนึ่ง ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553 ารกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของโจทก์ร่วมให้กับลูกค้าของโจทก์ร่วมได้ใช้โอกาสในหน้าที่ดังกล่าวจัดทำใบเบิกจ่ายล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยก อันเป็นข้อความเท็จ หลอกลวงโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยินยอมมอบเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้จำเลยไปจำนวน 353 ครั้ง จึงมิใช่การเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562 การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559 การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558 ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556 การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 - 3814/2556 จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
|