สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 146 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น

วรรคสอง ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2561 รั้วพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของรั้วซึ่งบริษัท ว. สร้างขึ้นพร้อมการจัดสรรที่ดินปลูกสร้างบ้านขายตั้งแต่ปี 2532 อันเป็นการให้มีสาธารณูปโภคตามนัยข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ทำให้รั้วพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทั้งหมด รั้วพิพาทจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อโจทก์จัดตั้งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้วได้รับโอนสาธารณูปโภคจากบริษัท ว. มาดำเนินการ รั้วพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559 ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13964/2558 ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) และ 1472 วรรคหนึ่ง หลังจากสมรสโจทก์ร่วมกับจำเลยปลูกสร้างรีสอร์ต ร้านอาหาร และต่อเติมบ้านเป็นร้านเสริมสวย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส แม้โจทก์จะเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างก็ตามแต่ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือจากจำเลย ที่สำคัญสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์กับจำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจร่วมกัน ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท สิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมบนที่ดินพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน คงเป็นสินสมรสที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยร่วมกัน จำเลยไม่ยอมเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย โจทก์จำเลยต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 กรณีนี้ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 คือให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินพิพาทภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยยังไม่ต้องคืนแก่โจทก์ แต่หากโจทก์ประสงค์จะขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินที่พิพาทโดยจำเลยยินยอมก็สามารถทำได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15876/2556 โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรทำถนน ทางเท้าและรั้วคอนกรีตพิพาทล้อมรอบที่ดินของโครงการที่จัดสรรมาแต่เดิม ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ มิได้หมายที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนและทางเท้าร่วมกับผู้ซื้อที่ดินในโครงการของโจทก์อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมในการใช้สอยทรัพย์ซึ่งเจ้าของทรัพย์พึงมีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้โดยสภาพของถนน ทางเท้าและรั้วคอนกรีตจะเป็นทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดินและผู้รับโอนที่ดินจากโจทก์ได้โอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าได้กระทำไปเพื่อให้การเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44 (3) อันจะทำให้หน้าที่ในการเป็นผู้บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตกแก่หน่วยงานของรัฐเท่านั้น หากแต่ข้อเท็จจริงคงได้ความว่า โจทก์ยังเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในโครงการเช่นเดิม ทั้งขณะโจทก์โอนที่ดินให้แก่ผู้รับโอน รวมทั้งผู้รับโอนโอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่ายทราบดีว่าเป็นเพียงการโอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์เฉพาะที่ดินที่ใช้เป็นทางสัญจรเท่านั้น ส่วนรั้วคอนกรีตพิพาทโจทก์ยังคงสงวนไว้เพื่อประโยชน์แก่การจัดสรรที่ดินเช่นเดิม มิได้มีเจตนาให้โอนติดไปกับที่ดินด้วย เพราะมิได้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอื่นที่อยู่นอกที่ดินที่จัดสรร ดังนี้ ต้องถือว่าขณะที่โอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วคอนกรีตพิพาทออกมาเป็นคนละส่วนกับที่ดินไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดไปกับที่ดินด้วย ส่วนการที่รั้วคอนกรีตพิพาทจะยังคงติดอยู่กับที่ดินซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ มิได้มีการรื้อถอนแยกส่วนออกไป เมื่อปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ยังคงตระหนักว่ารั้วคอนกรีตพิพาทเป็นสาธารณูปโภคจำเป็นที่ยังต้องให้มีอยู่ต่อไป ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างรั้วพิพาทในที่ดินนั่นเอง รั้วคอนกรีตพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 การที่จำเลยทั้งสองรื้อถอน ทุบ ทำลายรั้วคอนกรีตพิพาทของโจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2552 ในการสร้างบ้านพักอาศัยพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยของโจทก์นั้น ได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของเจ้าของที่ดิน จึงถือได้ว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัย เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ที่จะไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน การที่จำเลยยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงเป็นส่วนควบของที่ดิน เพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ทั้งๆ ที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง แต่กลับไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเนื่องจากต้องรื้อถอนบ้านพักขนย้ายครอบครัวออกไป เพราะถูกแนวเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ที่มุ่งหมายจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านอย่างเป็นธรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7084/2550 บ้านที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทของ พ. กับ ศ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยได้รับความยินยอมจาก พ. กับ ศ. จึงเป็นเรื่องบุตรได้สิทธิปลูกทำโรงเรือนในที่ดินของบิดามารดา จึงเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ย่อมไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านทรงบังกะโลซึ่งโจทก์ต่อเติมขึ้นภายหลัง ย่อมไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งได้รับโอนมาโดยพินัยกรรมของ ศ. เช่นกัน