สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

วรรคสอง การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

วรรคสาม ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2559 พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้แทนของกองทุน และมีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด เมื่อมีข้อบังคับของกองทุนโจทก์ว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุนที่กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทนตนได้แล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ จึงชอบด้วยกฎหมาย

สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550 การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2549 โจทก์ได้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยแล้ว ส่วนจำเลยได้ชำระเงินบางส่วนให้โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท และจะชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 39,900,000 บาท ให้โจทก์ภายหลังจากที่ที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินถูกต้องเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ แต่การจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้หรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพของที่ดินพิพาทที่อยู่ในขณะทำสัญญาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิใช่ขึ้นอยู่กับความสามารถของจำเลยที่จะไปดำเนินการได้หรือไม่ กรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยรับรองว่าจะกระทำการใดในอนาคตแล้วไม่ได้กระทำ หรือไม่สามารถกระทำได้ตามที่รับรองไว้อันไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่อ บ. มารดาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าสามารถขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้ทั้งหมด ซึ่งแท้จริงเป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ทั้งหมด จึงเป็นการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมแล้วจึงตกเป็นโมฆะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176