สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 171 ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร  

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559 การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12945/2558 จทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือโดยมีการวางเงินมัดจำด้วยการวางเงินมัดจำเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องบังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายในข้อ 1. มีข้อความระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อจะขายที่ดินตารางวาละ 100,000 บาท โดยส่วนที่เป็นถนนตามสภาพจริงจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นราคาที่ดินที่จะซื้อจะขาย โดยไม่มีข้อความว่าให้จำเลยกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินจะซื้อจะขายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่ข้อความไม่ชัดเจนหรืออาจแปลความได้หลายนัย ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก ดังนี้ จะนำบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 171 มาบังคับใช้เพื่อสืบพยานบุคคลประกอบการตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่าให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินที่จะซื้อจะขาย นอกเหนือข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2558 แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่การชำระหนี้ของแต่ละฝ่ายจะต้องมีความชัดเจน ในกรณีของจำเลยยังไม่มีความแน่นอนว่าจะชำระหนี้โดยวิธีใด ทั้งยังมีปัญหาว่าจำเลยจะจดทะเบียนจำนองห้องชุดให้แก่โจทก์ได้อย่างไร ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในห้องชุดยังเป็นของบริษัท พ. อยู่ ซึ่งจำเลยย่อมทราบดี ในการตีความการแสดงเจตนานั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร โดยเฉพาะสัญญาต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ มาตรา 171 และ 368 การที่จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โดยไม่เสนอว่าจะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ด้วยวิธีใดและมีความเป็นไปได้ประการใด นับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะหากโจทก์ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว จำเลยย่อมอ้างได้ว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลงและยังหาผู้ซื้อต่อไม่ได้ นอกจากนี้จำเลยยังกำหนดเวลาให้โจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ หากไม่ปฏิบัติตามขอเลิกสัญญาและให้โจทก์คืนเงิน 15,000,000 บาท ตามหนังสือบอกกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12972/2557 การตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1684 และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา 171 จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2557 ปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ดังนั้น คำว่า "หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภท" ตามสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13878/2556 การตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ว่าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 171 การค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญานั้น ไม่อาจถือตามชื่อสัญญาได้เพราะข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญาอาจไม่เป็นไปตามชื่อสัญญานั้นก็เป็นได้ สำหรับสัญญาระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ แม้ข้อความในสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 จะระบุว่า ฉ. ผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของ พ.ให้แก่โจทก์เพื่อทำแผ่นเสียง-เทปและประโยชน์อื่นๆ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 200,000 บาท ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ว่า ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในคำร้องและหรือทำนองเพลงทั้งหมดจากบทประพันธ์ของ พ. ให้แก่บริษัท ม. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300,000 บาท จากบริษัทดังกล่าวอีก ดังนี้ หากสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 เป็นสัญญาที่ ฉ. โอนลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่โจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ม. จะต้องทำสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 ซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งจาก ฉ. โดยจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท ให้แก่ ฉ. อีก เพราะลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 แล้ว แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวมิได้ตกเป็นของโจทก์แต่ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของ ฉ. ทายาท พ. แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ เจตนาในการทำสัญญาระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงเป็นเพียงเจตนาที่ ฉ. อนุญาตให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ไม่ได้เจตนาโอนลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ม. เข้าทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 จาก ฉ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ส่วนสัญญาที่ ฉ. ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 นั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 ฉ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจำนวน 12 เพลง และจำนวน 6 เพลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีก ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์เพลงของ พ. ทั้งหมดมาแล้วตามสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฉ. ผู้ขายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกของ พ. แต่เพียงผู้เดียวตกลงโอนขายสิทธิเพลงทั้งหมดของ พ. ตลอดอายุลิขสิทธิ์จริง จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ก็หาจำต้องซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ พ. จาก ฉ. อีก จำเลยที่ 1 สามารถอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าในขณะทำสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ทั้ง ฉ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาตรงกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจาก ฉ. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวในฐานะทายาทของ พ. เท่านั้น มิได้มีเจตนาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจาก ฉ. แต่อย่างใด ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งในขณะทำสัญญาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 จึงยังคงเป็นของ ฉ. ดังนี้ สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 จึงเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงชื่อ แต่ที่แท้จริงสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดยังคงเป็นของ ฉ. ในขณะทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 เป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดดังกล่าวมาตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมที่ พ. แต่ง