สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้

การฟ้องชู้ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายนั้น ( คู่สมรสที่ถูกกระทำ )  คู่สมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน  หากว่าไม่ได้จดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องแล้ว  จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากชู้  ตามมาตรา  1523  ได้เลย  เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552   เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จากนั้นมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยที่มีบุคคลสอบถามเป็นจำนวนมากคือ  การฟ้องชู้ให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้นจะต้องฟ้องหย่ากับสามีหรือภริยาก่อนหรือไม่นั้น  คำตอบคือไม่ต้องมีการฟ้องหย่าสามีหรือภริยาก่อน  ก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายให้ชู้ชดใช้ค่าเสียหายได้ตามมาตรา  1523  วรรคสองได้  ทั้งนี้  เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ตัดสินเอาไว้ใน  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2539  สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชี้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองกฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1)
แต่การฟ้องชู้นั้น  สามารถฟ้องได้ทั้งฟ้องหย่าและฟ้องชู้รวมกันไปในคราวเดียวกันได้
หลักเกณฑ์ในการเรียกเสียหายจากชู้นั้น  กฎหมายกำหนดเอาไว้ในมาตรา  1523  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  โดยบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 1523  เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
วรรคสอง  สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
วรรคสาม  ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
โดยมาตรา 1523  วรรคแรก  เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากสามีหรือภริยาและหญิงหรือชายชู้  โดยมีการฟ้องหย่าตามมาตรา  1516( 1)  หรือที่เรียกว่า  มีเหตุฟ้องหย่าเพราะเหตุมีชู้  นั้นเหตุ โดยศาลต้องพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน  จึงสามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งสามีหรือภริยาของตนเองและหญิงหรือชายชู้นั้นด้วย
ตัวอย่างเช่น  นาย  ง  ชู้  ทราบแล้วว่า นาง  ก  เป็นภริยาของ นาย  ข  แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับนาง  ก เป็นอาจิณ  ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2558  ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากชู้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ชายชู้หรือชายที่มาล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวจะต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นหญิงมีสามีแล้ว แต่ยังจงใจละเมิดสิทธิสามี จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เป็นอาจิณ โจทก์ซึ่งเป็นสามีย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ได้
ตัวอย่างที่  ๒  การหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล  ไม่ใช่การหย่ากันโดยคำพิพากษาของศาลให้หย่าขาดจากกันตามมาตรา  1523  วรรคหนึ่ง  ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557  ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
ตัวอย่างที่  ๓  ไม่เคยพาชู้ ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่ทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน  ถือว่าเป็นชู้กันแล้ว  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
ต่อไปเป็นหลักเกณฑ์ของการเรียกร้องค่าเสียหายจากชู้เพียงคนเดียว  ตามมาตรา  1523  วรรคสอง  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา  1523  วรรคสองนี้  ดังได้อธิบายได้แล้วข้างต้นว่า  ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องหย่าก่อน  เพียงแค่ได้ความว่า  ผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว หรือ  หญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว  ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากชู้ได้  อย่างไรเรียกว่า  ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว หรือ  หญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ดังตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างที่ ๑  ไปพบชู้ที่บ้านเช่าของชู้ในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับชู้ก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านชู้และกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านชู้ได้เอง  ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2562  คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

 
 

ตัวอย่างที่  ๒  ทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว ชู้ยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้  ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2559  ทั้งก่อนและหลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว จำเลยยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เมื่อคนงานและเพื่อนร่วมงาน ท. ทราบว่า ท. มีภริยาแล้วและพบเห็นจำเลยกับ ท. มาที่บริษัท โดยจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยกับ ท. มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ หลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีภริยาแล้ว ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปมีเหตุอันควรเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับ ท. มากกว่าที่จะรู้จักกันในฐานะลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาที่รู้จักกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ท. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีที่ฟังยุติมาข้างต้นมิอาจแปลความว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับ ท. และพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยกับ ท.

หนี้ของชู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เมื่อมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากชู้แล้ว  ชู้ย่อมมีหนี้กับคู่สมรสที่ถูกกระทำทันที  หากปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมาว่า  มีการโยกย้ายทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงไม่ให้ถูกบังคับคดีภายหลังจากมีการฟ้องคดีข้อหาเรียกค่าเสียหายฐานเป็นชู้แล้ว  ย่อมเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้  ซึ่งมีโทษจำคุก   เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8774/2550  ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

                อายุความในการฟ้องชู้มีกี่ปี
อายุความในการฟ้องชู้กฎหมายกำหนดให้ต้องทำการฟ้องภายใน  ๑  ปี  นับแต่ผู้อ้างรู้หรือควรรู้ความจริง  ทั้งนี้  เป็นไปตามมาตรา  1529 
แต่อย่างไรก็ตาม  หากว่า  ชู้ยังคงทำชู้ต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีแล้ว  ยังไม่เลิกราที่จะทำชู้กับคู่สมรส  อายุความในการฟ้องคดีก็ยังคงไม่นับ  ทั้งนี้เป็นไปตาม  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2558   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง หมายถึง กรณีที่เหตุที่กล่าวอ้างนั้นมิได้เกิดเหตุนั้นอีก สิทธิฟ้องร้องจึงระงับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่จำเลยที่ 2 ยังคงประพฤติเหตุดังกล่าวภายหลังวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ อันเป็นการกระทำเหตุดังกล่าวต่อเนื่อง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

                การกำหนดค่าเสียหายของศาล  ศาลจะกำหนดค่าเสียหายตามฐานานุรูปของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้