เป็นทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน หรือเป็นผู้ที่เจ้ามรดกแต่งตั้งให้แกเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก เจ้าหนี้กองมรดกสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีทายาท และผู้จัดการมรดกเลย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการต่อไปได้นั้น จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย ดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา
ตัวอย่างที่ 1 แม้ที่ดินและหุ้นจะได้มาในระหว่างโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินและหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ฟังข้อเท็จจริงเพียงว่า เมื่อโจทก์เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์อาจมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องการมีส่วนได้เสียเพียงเพื่อวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมทำมาหาได้กับผู้ตายหรือไม่ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคู่ความให้ต้องรับฟังว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกึ่งหนึ่ง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12734/2558)
ตัวอย่างที่ 2 ผู้เยาว์เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้ แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558)
ตัวอย่างที่ 4 แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกย่อมทำให้ผู้ร้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และอาจต้องรับผิดต่อทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 จึงถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2556)
ตัวอย่างที่ 5 เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย แต่เมื่อกองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้วก็มีตัวทายาทที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว จึงมีผู้รับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545)
บุคคลที่ไม่อาจะเป็นผู้จัดการมรดกได้ มีดังนี้ ทายาทที่ไม่มีสิทธิรับมรดก ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะแม้จะเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกก็ตาม บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย (มาตรา 1718 )
ทั้งนี้ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 1601 บัญญัติว่า “ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน”
ต่อเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
สิทธิของผู้จัดการมรดกนั้น ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่อาจจะพิจารณาได้จากกฎหมายลักษณะมรดกว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายกฎหมายกำหนดไว้ในอัตราส่วนนั้นๆ เท่านั้น
นอกจากนั้น ผู้จัดการมรดกยังไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่ทายาทเสียงข้างมากจะกำหนดให้ไว้( มาตรา 1721)
หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
1.ผู้จัดการมรดกจะต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 1 เดือน นับแต่ได้รับการแต่งตั้งให้แก่ผู้จัดการมรดก แต่ทั้งนี้ หากใกล้ครบกำหนดอาจขอขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ ( มาตรา 1728 ) โดยวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้น จะต้องกระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย ผู้จัดการมรดกไม่ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลแล้ว บุคคลนั้นอาจถูกเพิกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้(มาตรา 1731 )
2.ผู้จัดการมรดกต้องทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก หรือนับแต่ตามมาตรา 1728 แล้วแต่กรณี ระยะเวลา 1 ปีนั้น อาจจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามที่ทายาทเสียงข้างมากหรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา1732)
3.ผู้จัดการมรดกต้องชำระหนี้โดยใช้ทรัพย์สินของกองมรดกชดใช้หนี้กองมรดกเป็นลำดับดังนี้
1.ค่าใช่จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก 2.ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก3.ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่ 4.ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้และคนงาน 5.ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก 6.หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก 7.บำเหน็จของผู้จัดการมรดก (มาตรา 1739)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้จัดการมรดกนั้น มีแต่หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อทายาท ไม่ใช่อย่างที่หลายๆคนเข้าใจว่า หากเป็นผู้จัดการมรดกแล้วย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมด |