ออกเช็คโดยไม่ได้กรอกข้อความมีความผิดหรือไม่
ว. นำเช็คพิพาทที่มีจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้ โดยมิได้กรอกข้อความทั้งวันเดือนปีที่สั่งจ่าย ชื่อผู้รับเงินและจำนวนเงิน ไปมอบให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท ยังไม่มีรายการวันที่ออกเช็คอันเป็นวันกระทำความผิด คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน และชื่อผู้รับเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(2)(4) และ (6) บังคับให้ต้องมีรายการเหล่านี้ เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ออกเช็คย่อมไม่มีความผิดทางอาญา อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2546 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครพนม 3 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 6 มกราคม2539 จำนวนเงิน 30,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 จำนวนเงิน570,000 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 6 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 300,000 บาท ตามลำดับมอบให้แก่นายปกรณ์ พรอานนท์ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์แบบเทรลเลอร์18 ล้อ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คถึงกำหนด ผู้เสียหายนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ทั้งนี้ จำเลยได้ออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 |
---|
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 นางวิไล ไชยสิทธิ์ ภริยาจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟูโซ่ สีขาว แบบเทรลเลอร์ 18 ล้อ จากผู้เสียหายในราคา 1,050,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญาจำนวน 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 900,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 3 งวดด้วยเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 โดยมีนายชัยประสิทธิ์ ทาสมบูรณ์ และนางรัชนีวรรณคำมีอ่อน เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และหนังสือสัญญาค้ำประกัน (การเช่าซื้อ) เอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) เมื่อเช็คพิพาททั้งสามฉบับถึงกำหนดใช้เงิน ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2539 วันที่ 2 เมษายน 2539และวันที่ 2 เมษายน 2539 ตามลำดับ ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย"ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าในวันทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จำเลยไม่ได้มาด้วย ซึ่งตรงกับที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า ในวันดังกล่าวจำเลยปฏิบัติราชการอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เมื่อจำเลยไม่ได้ไปด้วย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้กรอกข้อความในเช็คพิพาททั้งวันเดือนปีที่สั่งจ่ายและจำนวนเงินในเช็ค ทั้งจำเลยก็มิได้ยินยอมให้ผู้ใดกรอกข้อความแทน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยืนยันว่า จำเลยมิได้มาด้วยในวันที่นางวิไลภริยาจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับพยาน และเช็คทั้งสามฉบับพยานไม่ได้รับจากมือจำเลยโดยตรง แต่นางสาวสุดาจิตร โทวิชา พยานโจทก์กลับเบิกความยืนยันว่านางวิไลมากับจำเลย โดยพยานเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และหนังสือสัญญาค้ำประกัน (การเช่าซื้อ)และมีการชำระเงินในวันดังกล่าวจำนวน 150,000 บาท ส่วนที่เหลือซึ่งตกลงผ่อนชำระเป็น 3 งวด งวดแรกวันที่ 6 มกราคม 2539 จำนวน 30,000 บาท งวดที่สองวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 570,000 บาท และงวดที่สามวันที่ 6 มีนาคม 2539 จำนวน300,000 บาท นั้น จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขานครพนม จำนวน3 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 6 มกราคม 2539 จำนวนเงิน 30,000 บาท ฉบับลงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2539 จำนวนเงิน 570,000 บาท และฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 300,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 มอบให้แก่ผู้เสียหาย โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวต่อหน้าพยานและผู้เสียหายคำเบิกความของนางสาวสุดาจิตรจึงขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายในสาระสำคัญแต่คำเบิกความของผู้เสียหายกลับเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ยืนยันว่า จำเลยไม่ได้ไปกับนางวิไลในวันดังกล่าว โดยจำเลยมีหลักฐานของทางราชการแสดงด้วยว่าในวันดังกล่าวจำเลยปฏิบัติราชการอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ตามเวลาราชการทั้งวันข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า จำเลยมิได้ไปด้วยกับนางวิไลในวันดังกล่าว ทั้งเมื่อพิจารณาเช็คพิพาททั้งสามฉบับแล้ว ปรากฏว่าในส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายซึ่งจำเลยยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยนั้นเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินทั้งสามฉบับ ส่วนข้อความในเช็คในส่วนวันเดือนปีที่สั่งจ่าย ชื่อผู้รับเงินและจำนวนเงินกลับเขียนด้วยหมึกสีดำทั้งสามฉบับ หากจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับเองก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้ปากกาหมึกสีต่างกันเขียนข้อความในเช็คสีหนึ่งอีกสีหนึ่งสำหรับลงลายมือชื่อ ที่นางสาวสุดาจิตรเบิกความว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับต่อหน้าพยานและผู้เสียหายแล้วมอบเช็คพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยมิได้กรอกข้อความไว้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า นางวิไลนำเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งจำเลยเพียงลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้โดยมิได้กรอกข้อความทั้งวันเดือนปีที่สั่งจ่าย ชื่อผู้รับเงิน และจำนวนเงินไปมอบให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เมื่อขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ยังไม่มีรายการวันที่ออกเช็คอันเป็นวันกระทำความผิด คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนและชื่อผู้รับเงิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(2)(4) และ (6) บังคับให้ต้องมีรายการเหล่านี้เช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ออกเช็คย่อมไม่มีความผิดทางอาญาอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น" |