แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ไม่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ |
---|
การกู้ยืมเงินนั้น ในบางครั้งคู่สัญญาได้ทำสัญญากู้กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระบุจำนวนเงินตามสัญญากู้และรายละเอียดในสัญญากู้ไว้แล้วครบถ้วน แต่ภายหลังผู้กู้มาขอกู้เงินเพิ่มเติม แต่กลับไม่ได้จัดทำสัญญากู้ยืมเงินกันอีกฉบับ ทำให้มีจำนวนเงินกู้จากสัญญาเดิมจำนวนหนึ่งและการกู้ภายหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผู้ให้กู้จึงได้ทำการแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ฉบับแรก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้กู้ ให้เป็นจำนวนเท่ากับที่ผู้กู้ได้รับเงินไปจากผู้ให้กู้ จึงมีประเด็นทันทีว่า สัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญากู้ปลอมและมีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ จากประเด็นดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในตอนแรกสัญญากู้มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แต่ต่อมากลับมีการแก้ไขสัญญากู้ในส่วนของตัวเลขในจำนวนเงิน ทำให้สัญญากู้ดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้กู้กันในครั้งแรก ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าว การกู้ยืมเงินในครั้งแรกมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว ย่อมทำให้สัญญากู้ในครั้งแรกใช้บังคับได้ แม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงในครั้งหลังจะได้ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้กู้ต่อมา แต่สัญญากู้ที่มีการแก้ไขนั้น สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องผู้กู้ให้รับผิดตามจำนวนเงินกู้ในครั้งแรกได้ ย้ำว่า เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องผู้กู้ให้รับผิดตามจำนวนเงินกู้ในจำนวนครั้งแรกเท่านั้น หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2542 จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมฉบับพิพาทจากโจทก์30,000 บาท ต่อมาโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญาเป็น60,000 บาท โดยไม่เป็นความจริงแล้วโจทก์นำสัญญานั้นมาฟ้อง ดังนี้ เมื่อปรากฏว่า สัญญากู้ยืมฉบับพิพาทจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้น จึงทำให้สัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเป็นเอกสารปลอม ก็ไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามจำนวนเงินเท่าที่จำเลยกู้ไปจริง โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 60,000 บาท ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและเวลาชำระหนี้ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา1 ปี 3 เดือน เป็นเงิน 5,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน65,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
|