สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

โอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทเจ้าหนี้ของผู้ตายฟ้องโกงเจ้าหนี้ได้หรือไม่

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น  ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้  แต่การโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทของผู้ตาย  ไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้น้อยลงแต่อย่างใด  เพราะเจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีเพื่อให้ทายาทรับผิดตามมูลหนี้ที่เจ้ามรดกหรือผู้ตายจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ได้  ดังนั้น  การโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกในระหว่างที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้  ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างอิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2557

การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 137, 267, 349, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 12 เดือน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบด้วยมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 10 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 16 เดือน
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 49394 ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ตายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ สูญหายไปเพื่อให้เจ้าพนักงานจดข้อความที่แจ้งลงในรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย จากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาอำเภอพนัสนิคม ตามคำขอใบแทนโฉนดที่ดิน โดยมีจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่า ข้อความที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นความจริงตามบันทึกถ้อยคำ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายสละสิทธิในการรับมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวข้างต้นได้กระทำภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมที่ผู้ตายทำไว้กับโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 535/2543 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าวตามศาลล่างทั้งสอง เพราะเหตุขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่แนบท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งหก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่า การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน