สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นแล้วออกเช็คให้ประกันค้ำหนี้

การออกเช็คนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อให้ชำระหนี้ตามกฎหมาย พูดง่ายๆว่า เป็นการจ่ายเงินแทนเงินสดนั้นเอง หากปรากฏว่า การออกเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คหรือผู้ถือเช็ค เพราะเป็นหนี้กันมาก่อนและการออกเช็คผู้ทรงเช็คทราบดีว่า ผู้ออกเช็คไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ผู้ทรงเช็คได้ และการออกเช็คเพื่อประกันหนี้เท่านั้น การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
จากหลักกฎหมายดังกล่าว การที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จะต้องไม่ใช้
1.การออกเช็คค้ำประกัน
2.ต้องมีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้
ทนายความเชียงใหม่ได้ขอนำเสนอคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาหลักกฎหมายดังกล่าวดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556 แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เช็คตามฟ้องฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 มีมูลให้ประทับฟ้อง ส่วนเช็คฉบับอื่นไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยเป็นพนักงานขายรถยนต์ของห้างสยามนิสสัน สาขาถนนสุขาภิบาล 3 เมื่อปี 2546 โจทก์และจำเลยเข้าหุ้นกันประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสอง โดยโจทก์ลงทุนด้วยเงินสด จำเลยลงทุนด้วยแรงงานทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อซื้อขายรถยนต์กับลูกค้าและตกลงแบ่งกำไรให้จำเลยร้อยละ 40 จนถึงกลางปี 2547 ก็เลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน แต่จำเลยยังคงประกอบกิจการต่อและกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปลงทุนหลายครั้ง เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวม 5 ครั้ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งจำเลยได้ออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสุขาภิบาล 3 มอบให้ไว้แก่โจทก์ รวมแล้วมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 30 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวนเงิน 340,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 325,000 บาท และฉบับที่ 6 ลงวันที่ 24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,015,000 บาท ครั้นเช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ คดีสำหรับเช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยออกเช็คฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์และจำเลยยังทำหลักฐานการกู้ยืมเงินกับเขียนระบุไว้ชัดเจนว่าจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท โดยจำเลยมิได้ถูกโจทก์บังคับขู่เข็ญ แม้โจทก์จะทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยดีว่าขาดสภาพคล่องอาจไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมดได้ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องออกเช็คพิพาทเพื่อประกันหนี้กู้ยืมเสมอไป ฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามที่โจทก์นำสืบ มิใช่เพื่อประกันหนี้ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แม้มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว ซึ่งในข้อนี้เดิมได้ความว่าจำเลยเป็นเพียงพนักงานขายรถยนต์ แต่เหตุที่จำเลยมาร่วมกับโจทก์ประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสองได้ก็เพราะมีโจทก์เป็นคนออกเงินทุนให้ และที่จำเลยสามารถลงทุนได้ด้วยแรงงานเพียงอย่างเดียว แสดงว่าโจทก์เองทราบเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นว่าจำเลยไม่มีหนทางใดที่จะหาเงินมาลงทุนด้วยได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นโจทก์คงไม่ยอมให้จำเลยเอาเปรียบที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินลงทุนหากกิจการประสบภาวะขาดทุน ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า โจทก์เองทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยดีว่าขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมดได้ ดังนี้ การที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนมากและหลายครั้งในระยะเวลาต่อเนื่องใกล้เคียงกัน โดยที่จำเลยยังมิได้ชำระหนี้เดิมให้เสร็จสิ้นหรือแม้บางส่วน เชื่อว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยจะยังคงไม่สามารถที่จะหาเงินมาชำระหนี้ซึ่งมีจำนวนมากให้แก่โจทก์ในระยะเวลาอันใกล้ได้เลย ถึงแม้เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยสมัครใจของจำเลยเอง มิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญของโจทก์และจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์และออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์จริง ก็เป็นการยอมรับการเป็นหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น หาใช่เป็นการยอมรับว่าจำเลยออกเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยไม่ กับได้ความอีกว่าในการเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อการใช้เช็คพิพาทของจำเลย จำเลยเพิ่งกระทำด้วยการฝากเงิน 10,000 บาท ก่อนการกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ไม่นานนัก แต่หลังจากนั้นไม่มีการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอทำธุรกรรมใด ๆ ในบัญชีอีกเลย เจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์บอกว่าจะเป็นนายทุนให้จำเลยกู้ยืมเงินและให้จำเลยไปเปิดบัญชีที่ธนาคารเพื่อขอใช้เช็ค จำเลยจึงไปเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสุขาภิบาล 3 และเมื่อจำเลยไปกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์ก็จะให้จำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ไว้เป็นประกัน และที่เช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการแก้ไขข้อความวันที่และจำนวนเงิน ได้ความว่าเป็นการนำเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ไว้เดิมมาแก้ไขด้วยเหตุที่จำเลยกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ซึ่งฟังเป็นยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่าโจทก์เพียงยึดถือเช็คดังกล่าวไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม ยังเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับการออกเช็คฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งการที่โจทก์มิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในทันทีที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน แต่นำเช็คหลายฉบับไปเรียกเก็บในคราวเดียวกัน ยังเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรเช็คก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนดนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คไว้ก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน