สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การเปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินแทน

ข้อเท็จจริงนี้ ทนายความเชียงใหม่ ขอเสนอเพื่อประกอบการเข้าในว่า การครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น หากที่ดินดังกล่าวมีเจ้าของหลายคนผู้ถือแทนจะต้องการเปลี่ยนการยึดถือ ต้องแสดงเจตนาต่อเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่

 

ข้อมูลจากกรมที่ดิน ฝรั่งหรือผู้คนต่างด้าวซื้อที่ดินในประเทศโดยให้ผู้มีสัญชาติไทยเป็นนอมินีในการยึดถือที่ดินแทน กรมที่ดินจึงได้ทำการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว โดยให้กำหนดนโนบายในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป ในเบื้องต้นกรมที่ดินจะเพิ่มการตรวจสอบให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
เรื่องที่กล่าวมานั้นเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของกรมที่ดิน ส่วนข้อกฎหมายนั้นทนายความเชียงใหม่ได้หยิบยกตัวอย่างมาอธิบายในหัวข้อเรื่องการเปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินแทนฝรั่งหรือคนต่างด้าง ว่าผู้มีสัญชาติไทยจะเปลี่ยนเจตนาการครอบครองกับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้อย่างไร
ซึ่งตามเรื่องราวที่กล่าวมานี้ มีข้อกฎหมายกำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
โดยจากมาตรา 1381 กฎหมายกำหนดให้แสดงเจตนาต่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงว่า ผู้ครอบครองแทนจะไม่ยึดถือที่ดินดังกล่าวแทนอีกต่อไป
ซึ่งการบอกกล่าวนั้น ทนายความใหม่ขอแนะนำว่า ให้ทำการบอกกล่าวเป็นหนังสือและให้มีหลักฐานในการรับหนังสือบอกกล่าวนั้นด้วย เพราะจะได้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาลต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นต่อไปว่า หากผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงนั้น มีหลายคน จำเป็นต้องบอกกล่าวทุกคนหรือไม่
โดยมีคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาลได้ตัดสินไว้ว่า
คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบอกกล่าวได้ยังผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงในกรณีมีหลายคน ผู้ครอบครองที่ดินแทนไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวไปยังทุกคน เพียงแต่บอกกล่าวว่าจะไม่ครอบครองที่ดินแทนหรือไม่ต้องการยึดถือที่ดินแทนเจ้าของที่ดินที่แท้จริงแล้ว ย่อมเป็นการแสดงเจตนาตามมาตรา 1381 ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
นอกจากนั้น ทนายความเชียงใหม่ยังได้คัดสรรคำพิพากษาของศาลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนการครอบครองที่ดินแทน ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2560 จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558 การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

 
โดย ทนายความเชียงใหม่