สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ขายรถที่เช่าซื้อควรเปลี่ยนสัญญาหรือไม่

การทำสัญญาเช่าซื้อนั้น  เป็นการทำสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายไปในตัวโดยสัญญาฉบับเดียวกัน  จึงมีชื่อเรียกว่า  สัญญาเช่าซื้อ  โดยสัญญาเช่าซื้อนั้น  ในระหว่างที่ยังอยู่ในระหว่างผ่อนชำระหนี้ค่างวดเช่าซื้อกับธนาคารหรือลิสซิ่งจนกว่าจะถึงงวดสุดท้าย  ทางกฎหมายเรียกว่า  เป็นการเช่าทรัพย์สินกับทางธนาคารหรือลิสซิ่ง  แต่เมื่อไหร่ก็ตาม  เมื่อถึงงวดสุดท้าย  กรรมสิทธิ์ที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อ ดังนั้น  ในระหว่างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ  ทรัพย์สินที่เช่าซื้อยังไม่ได้เป็นของผู้เช่าซื้อ 

มีประเด็นต่อมาว่า  ผู้เช่าซื้อต้องการขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อซึ่งไม่ได้กรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อ  จำเป็นต้องเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อหรือไม่

คำตอบ  จำเป็นอย่างยิ่งในการต้องเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ  เพราะการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อจะทำให้หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้เช่าซื้อกับธนาคารหรือลิสซิ่ง  ระงับสิ้นไป  ไม่มีหนี้ผูกพันกับผู้เช่าซื้อ  จึงเป็นเหตุผลในการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ  หากว่า  ไม่ได้เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ  แล้วขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อ  ผู้เช่าซื้อจะมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา  ( ท่านสามารถอ่านบทความข้างล่างบทความนี้)

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙  เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

วรรคสอง ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น

วรรคสาม ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

มาตรา ๓๕๐  แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13073/2558
เมื่อจำเลยทั้งสองขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ยอมรับคำขอของจำเลยทั้งสอง โดยเรียกค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจากจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน เมื่อได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมย่อมระงับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก และมาตรา 350 โจทก์ไม่อาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 365,860.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถเก๋ง ยี่ห้อ บีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 323 ไอเอ จากโจทก์ ในราคา 1,673,046.60 บาท ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 60 งวด งวดละ 29,836 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 สิงหาคม 2547 งวดต่อไปทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2548 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำขอต่อโจทก์ขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บริษัทโรลเลอร์เบส จำกัด และโอนสิทธิสัญญาค้ำประกันให้แก่นางลลนา โดยโจทก์เรียกค่าบริการงานทะเบียนค่าธรรมเนียมโอนเปลี่ยนผู้เช่าซื้อ รวม 3,060 บาท จากจำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และบริษัทโรลเลอร์เบส จำกัด ขอยกเลิกการโอนสิทธิอ้างว่ามีการค้างชำระค่าเช่าซื้อ นางลลนานำรถที่เช่าซื้อมามอบคืนแก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 15 งวด ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 หลังจากนั้นโจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดได้เงิน 900,000 บาท
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ยอมรับคำขอของจำเลยทั้งสอง โดยเรียกค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจากจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ข้อเท็จจริงยังได้ความจากเอกสารขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ว่า ในการมาขอยื่นคำขอโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่โจทก์ 2 งวดด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะนำสืบอ้างว่า การโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ต้องรอการอนุมัติจากโจทก์ก่อนก็ตาม แต่ตามหนังสือขอยกเลิกการโอนสิทธิที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 1 และบริษัทโรลเลอร์เบส จำกัด นั้น เป็นการขอยกเลิกเพราะมีการค้างชำระหนี้ รวมทั้งโจทก์ใช้โทรศัพท์ทวงถามนายกิตติศักดิ์และนางลลนาซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่ หาใช่เป็นเพราะโจทก์ไม่อนุมัติตามคำขอของจำเลยทั้งสองไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์อนุมัติให้จำเลยทั้งสองเปลี่ยนตัวลูกหนี้แล้ว เมื่อได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก และมาตรา 350 โจทก์ไม่อาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

-ขายรถยนต์ที่ยังผ่อนไม่หมด มีความผิดหรือไม่