ครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ติดจำนองจำนองย่อมติดไปด้วย |
|
---|---|
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม คือ ไม่ได้ทำสัญญาใดๆ ก็กันกับเจ้าของเดิม หรือทำสัญญากันแต่สัญญานั้นไม่สมบูรณ์และตนได้เข้าครอบครองที่ดินนั้น จนเกินกว่า ๑๐ ปี ขึ้นไป จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่หากเจ้าของที่ดินเดิมได้จำนองที่ดินไว้เป็นประกันการทำสัญญา เช่น ประกันหนี้เงินกู้ ประกันหนี้ตามสัญญาอื่นๆ เป็นต้น อย่างนี้ ผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะได้ภาระติดพันที่เป็นหนี้จำนองมาด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ย่อมต้องได้ภาระติดพันที่เป็นหนี้จำนองติดมาด้วย โดยผู้รับจำนองจะต้องเป็นผู้ที่ได้เสียค่าตอบแทน จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต และสุจริตด้วย ทั้งนี้ไปเป็นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง |
|
คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างที่ ๑ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2541 ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อประมาณปี 2514 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 84 ตารางเมตรพร้อมตึกแถว 2 คูหา เลขที่ 2741ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่4783 ที่จำเลยได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องชำระราคาแล้ว ผู้ร้องและครอบครัวได้เข้าไปอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตั้งแต่ปี 2515 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต่อมาผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แต่โจทก์รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่4783 ทั้งแปลงจากจำเลยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2516จึงเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้สิทธิจำนองอันครอบไปถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ทั้งแปลงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่ก่อนที่ผู้ร้องจะสามารถอ้างได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาท สิทธิจำนองนี้เป็นสิทธิครองเหนือทรัพย์จำนองทั้งหมดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716ทรัพย์ส่วนที่ผู้ร้องได้ไปโดยการครอบครองปรปักษ์นับเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่จำนอง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินทั้งแปลงได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ผู้รับจำนองได้รับจำนองได้รับจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้ทะเบียนจำนองโดยสุจริต ผู้ร้องซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองไม่ได้ ตัวอย่างที่ ๒ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2552 บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อธนาคาร ก. เป็นทั้งผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิมและยังเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ธนาคาร ก. จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง |