สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

จอดรถบนถนนสาธารณะเจ้าของอาคารหน้าถนนมีสิทธิ์ห่วงกันถนนหรือไม่

ในชุมชนแออัดในเมือง  ย่อมมีการก่อสร้างอาคาร  บ้าน  ติดถนนสาธารณะ  ไม่มีที่จอดรถเป็นของตนเอง  หรือไม่มีที่จอดรถให้แก่ลูกค้า  เจ้าของอาคารร้านค้านั้น  มักจะเอากรวยหรือสิ่งของ  รวมถึงกระถางต้นไม้  มาวางบนถนนหน้าร้านของตนเอง  ในกรณีเช่นนี้  จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า  การกระทำของเจ้าของร้านดังกล่าวสามารถวางกระถางต้นไม้  หรือกรวย  เพื่อห่วงกันที่จอดรถไว้สำหรับตนเองหรือลูกค้าของตนเองได้หรือไม่

        ในประเด็นนี้  กฎหมายได้กำหนดว่า  เจ้าของที่ดินหรืออาคารร้านค้า  ไม่มีสิทธิ์ที่จะวางกรวยหรือสิ่งของไว้บนถนนสาธารณะ  เพื่อจากเป็นการใช้สิทธิ์เกินส่วนของตนเป็นการกระทบต่อสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิ์ใช้ถนนสาธารณะเช่นกัน  ดังนั้น  หากเป็นอย่างกรณีดังกล่าวแล้ว  ผู้อื่นสามารถเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล  เพื่อให้เจ้าของร้านค้านั้นรื้อถอนกระถางต้นไม้  หรือห้ามมิให้วางกรวยบนถนนสาธารณะได้

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 421  การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559
การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารใช้แดนกรรมสิทธิ์ฝั่งถนนของตนไม่เกินสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามขอให้ร่วมกันชดใช้เงินเป็นค่าปรับวันละ 10,000 บาท แก่โจทก์นับจากวันพิพากษาจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ ประเมินความเสียหายจากการไม่ได้ใช้สถานที่เป็นเงิน 10,209.28 บาท ต่อวัน นับจากวันที่เกิดข้อพิพาทในการใช้ทางร่วมจนถึงวันฟ้อง 801 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,177,633.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์ เลขที่ 189 ซอยภิรมย์ ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6513 ที่มีอาคารพาณิชย์ เลขที่ 130 ตั้งอยู่และอยู่ในซอยเดียวกับโจทก์ อาคารพาณิชย์ของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ มีลักษณะหันหน้าเข้าหากันเป็นห้องหัวมุมอยู่ปากซอยภิรมย์ ซึ่งชุมชนในซอยภิรมย์ใช้ถนนหน้าอาคารโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะด้วย ลักษณะถนนซอยภิรมย์เป็นทางสาธารณะ กว้างประมาณ 4 เมตร เป็นเหตุให้อาคารของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต้องเว้นระยะร่นแนวอาคารของตนจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยอาคารโจทก์และจำเลยทั้งสี่มีแนวระยะร่นอาคารจากทางสาธารณะเข้าไป 1 เมตร จำเลยทั้งสี่อยู่อาศัยในอาคารของตนประกอบธุรกิจเครื่องแก้ว ตั้งแต่ปี 2508 ก่อนโจทก์มาเช่าอาคาร แต่สามีโจทก์พักอาศัยอยู่ในซอยภิรมย์มาตั้งแต่เกิด ระหว่างพักอาศัยจำเลยทั้งสี่ได้เทคอนกรีตพื้นในระยะร่นอาคารให้สูงจากพื้นถนน 30 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ต่อมาทางราชการปรับพื้นถนนหลังจากน้ำท่วมแล้วระยะร่นดังกล่าวเหลือความสูงเพียง 10 เซนติเมตร และจำเลยทั้งสี่ยังคงใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้เช่นเดิม โดยใช้พื้นที่ในถนนซอยภิรมย์หน้าอาคารของตนเป็นที่จอดรถเป็นประจำ เป็นเหตุให้ถนนซอยภิรมย์ไม่มีที่เหลือเพียงพอให้เจ้าของอาคารฝั่งด้านของโจทก์จอดรถหน้าอาคารของตนได้ เพราะจะต้องเว้นทางให้ชุมชนในซอยใช้เป็นทางเข้าออกด้วย แต่เนื่องจากขณะนั้นเจ้าของอาคารของโจทก์แต่เดิมประกอบกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยวไม่จำต้องมีที่จอดรถยนต์ จึงไม่มีข้อพิพาทกับจำเลยทั้งสี่ในเรื่องที่จอดรถ จนเมื่อโจทก์มาขอเช่าอาคารเลขที่ 189 อยู่อาศัยและใช้เป็นสำนักงานทนายความ จำเป็นต้องมีที่จอดรถเป็นของตนเองจึงเจรจากับจำเลยทั้งสี่ขอให้จอดรถชิดระยะร่นอาคารของจำเลยทั้งสี่เพื่อให้ถนนซอยภิรมย์มีที่เหลือเพียงพอแก่โจทก์และบุคคลอื่นที่จะใช้ทางสาธารณะด้วย แต่การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยทั้งสี่นำรถกระบะส่งของมาจอดหน้าอาคารของจำเลยทั้งสี่ใกล้กับรถยนต์ของโจทก์ทำให้โจทก์ต้องขยับรถของโจทก์เพื่อให้รถของคนในซอยผ่านเข้าออกและทำให้สำนักงานของโจทก์ไม่มีที่จอดรถไว้บริการลูกค้า

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การใช้สิทธิจอดรถของจำเลยทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคาดหมายหรือไม่ เห็นว่า การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ในซอยซึ่งมีความกว้างประมาณ 2 เมตร ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไป จึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิ์ขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในการจอดรถนั้นจำเลยทั้งสี่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นละเมิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ใช้ระยะร่นของอาคารของตนเป็นที่จอดรถแต่กลับเทคอนกรีตบริเวณระยะร่นเพื่อใช้วางกระถางต้นไม้ และจอดรถบนถนนสาธารณะในซอยภิรมย์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดน้ำท่วมจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ถนนแคบลง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจอดรถหน้าอาคารของโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสี่พยายามเจรจากันแล้วแต่การเจรจาไม่เป็นผล จากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำการดังกล่าวต่อเนื่องมาเป็นอาจิณจนถึงวันฟ้อง ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ให้การและนำสืบว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 นับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความแล้วนั้น ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 สามีโจทก์กับจำเลยที่ 1 เจรจากันเพื่อให้ต่างคนต่างจอดรถในพื้นที่อาคารฝั่งของตน โดยโจทก์ยินดีตัดเหล็กกำหนดหมุดปักหลักแนวเขตออก การเจรจาในวันดังกล่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ได้พยายามให้แต่ละฝ่ายไม่ใช้สิทธิเกินส่วนของตนเพื่อยุติข้อพิพาทเท่านั้นมิใช่วันทำละเมิด ส่วนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่จงใจใส่เบรกมือรถของตนที่จอดอยู่ ทำให้โจทก์ต้องเป็นฝ่ายเคลื่อนขยับรถแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้รถของคนในซอยเข้าออกได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ทำละเมิดอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำดังกล่าว คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับเรื่องค่าทนายความใช้แทนในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้แทนจำเลยทั้งสี่เป็นเงิน 20,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ติดใจอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายตามฟ้อง โดยอุทธรณ์และฎีกาอย่างเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ตลอดมา เมื่อพิเคราะห์ถึงความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ประกอบกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงเห็นควรให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ตกเป็นพับแก่ทั้งสองฝ่าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ระยะร่นอาคารเลขที่ 130 ซอยภิรมย์ ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของที่จอดรถ โดยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

 

ท่านสามารถอ่านบทความเป็นเกร็ดความรู้กฎหมายได้โดยการคลิกลิงค์ล่างข้างนี้
ความรู้กฎหมาย

 

ต้องใช้บริการสำนักงานในการว่าความ คลิก

บริการสำนักงาน