สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ซื้อขายที่ดินแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายมีผลเป็นอย่างไร

 

การซื้อขายที่ดินนั้นมีหลายประเภท  ซึ่งการซื้อขายที่ดินแต่ละประเภทมีวิธีการซื้อขายที่แตกต่างกัน  โดยที่ดินมีประเภทขายที่ดินดังนี้  ๑.ที่ดินประเภท นส๔ หรือโฉนดที่ดิน  ๒.ที่ดินประเภท นส ๓  ๓.ที่ดินประเภท สค๑  ๔.ที่ดินประเภท ที่ดินมือเปล่า  เป็นต้น  ที่ดินเหล่านี้  มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองอยู่ในตัวเอง  โดยสามารถจำแนกประเภทออกเป็น  ๒  กลุ่ม  คือ  ที่ดินประเภทมีกรรมสิทธิ์  ได้แก่  ที่ดิน นส๔หรือโฉนดที่ดิน  และอีกส่วนหนึ่งคือที่ดินประเภทสิทธิครอบครอง  ได้แก่  ที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส๓. , ที่ดินประเภท สค๑  และ  ที่ดินมือเปล่า 

การซื้อขายที่ดินประเภทสิทธิครองครอบ  สามารถจำแนกออกเป็น  ๒  ประเภท  คือ 

ประเภทที่  ๑  การซื้อขายที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส๓  ซึ่งเป็นที่ดินที่สามารถซื้อขายกันโดยการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  ยกตัวอย่างเช่น  นายก  ต้องการซื้อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากนาย ข  จำนวน  ๓  ไร่  เป็นเงินจำนวน  ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท  โดยตกลงที่จะไปทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  ต่อมาเมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าที่แล้ว  นาย ก  และนาย  ข  ชำระเงินและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  เช่นนี้  การซื้อขายที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส ๓  ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เป็นต้น  หรือคู่สัญญาสามารถทำการซื้อขายที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส๓  ตามความเป็นจริง  คือคู่สัญญาได้ทำการชำระราคาค่าที่ดินและส่งมอบการครอบครองในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือนส ๓  ให้แก่กันเท่านั้น  ผู้ซื้อที่ดินก็ได้สิทธิครอบครองในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส๓  ตามกฎหมายแล้ว  ยกตัวอย่างเช่น  นายก  ต้องการซื้อที่ดินประเภทที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือนส๓  ของนาย ข  จำนวน  ๓  ไร่  โดยเสนอราคาค่าที่ดินดังกล่าว  เป็นเงินจำนวน  ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท  นาย  ข  ตกลงขายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นาย ก  วันรุ่งขึ้น  นายก  นำเงินจำนวน  ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท  มาชำระให้แก่นาย  ข  นาย  ข  ได้ส่งมอบที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นาย ก    เช่นนี้  นาย ก  ได้สิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากนาย  ข  แล้ว  โดยไม่ได้ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  ดังเช่นกรณีแรก  ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2553    จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน เมื่อการซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง เมื่อ จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นการสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา 1377, 1378 แล้ว จึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ แต่โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้

ประเภทที่ ๒ คือ ที่ดินประเภท  สค๑  ,ที่ดินมือเปล่า
การซื้อขายที่ดินมือเปล่านั้น  สามารถทำได้โดยการซื้อขายที่ดินโดยการชำระราคาที่ดินและส่งมอบที่ดินให้แก่กันหรือการซื้อขายที่ดินโดยความเป็นจริง  เพียงเท่านี้  ก็สามารถมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้ตามกฎหมาย  เช่น  การนาย  ก  ต้องการซื้อที่ดินประเภท สปก  จากนาย ข  จำนวน  ๑  ไร่  จำนวนเงิน  ๑๐,๐๐๐ บาท  นาย ข  ตกลงขายสิทธิครอบครองให้แก่นาย ก  นาย ก  จึงได้ชำระราคาจำนวน  ๑๐,๐๐๐ บาท  ให้แก่นาย ข  นาย ขได้รับเงินจำนวน  ๑๐,๐๐๐ บาท  แล้ว นาย ข ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่นาย ก  เช่นนี้  นาย ก  ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15551/2553 ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันเป็นที่ดินมือเปล่า (ภ.บ.ท.5) เจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อตามสัญญาระบุว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองแล้วในวันทำสัญญา โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377, 1378 สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาอีก ดังนั้น การที่โจทก์จะเข้าทำการรังวัดแนวเขตที่ดินเพื่อครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่ใช่ข้อผูกพันอันเกี่ยวเนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองคัดค้านและขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์ทำการรังวัด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปทำการวัดแนวเขตที่ดินพิพาท หรือให้คืนเงินค่าซื้อที่ดิน

ต่อไปเป็นการซื้อขายที่ดินประเภทมีกรรมสิทธิ์  หรือการซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  หรือ นส๔  ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  กล่าวคือ  การซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดินนั้น  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  หากไม่ได้ทำตามแบบดังกล่าวแล้ว  การซื้อขายที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ย่อมตกเป็นโมฆะ  ไม่มีผลตามกฎหมาย  เช่น  นาย ก  ต้องการซื้อที่ดินที่มีโฉนดที่ดินของ  นาย ข  จำนวน  ๒  ไร่  เป็นเงินจำนวน  ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท  นาย ข  ตกลงขายที่ดินให้แก่นาย ก  โดยที่นายก  และ นาย  ข  ไม่ได้ตกลงกันเพื่อไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกันเท่านั้น  ในกรณีเช่นนี้  ตามกฎหมายเรียกว่า  เป็นการซื้อขายที่ดินแบบเสร็จเด็ดขาด  ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดินระหว่าง  นาย  ก  และนาย ข  ตกเป็นโมฆะ  เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดเอาไว้  แต่หากว่า  นาย  ก  และ นาย ข  ได้ตกลงซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดินโดยตกลงทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและจะไปดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  เมื่อได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  มีผลทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดระหว่าง  นายก  และนาย ข  มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ทำให้นาย ก  ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีโฉนดนั้นนับแต่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2552 การซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 แต่หากผู้ซื้อได้ครอบครองที่ดินที่ซื้อขายกันโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทและครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้อง

ดังนั้น  ปัญหาที่ว่า  การซื้อขายที่ดินโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หากว่า  เป็นการซื้อขายที่ดินที่สิทธิครอบครองเพียงอย่างเดียวการซื้อขายที่ดินดังกล่าว  ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  แต่หากว่าเป็นการซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดินแล้วโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินแล้ว  การซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดนั้น  ย่อมตกเป็นโมฆะ  เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  แต่การที่ผู้ขายได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินที่ซื้อขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อแล้ว  มีผลทำให้ผู้ซื้อที่ดินได้สิทธิครอบครอง  หากปรากฏว่า  ผู้ซื้อได้ครอบครองที่ดินโดยตลอดมาเป็นระเวลา  ๑๐  ปี แล้ว  ผู้ซื้อดังกล่าจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย  ซึ่งเป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม  ซึ่งผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แบบจะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง  แล้วผู้ซื้อสามารถนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินได้ 

สรุปได้ว่า  การซื้อขายที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหากว่าไม่ได้ทำเป็นจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  การซื้อขายที่ดินย่อมตกเป็นโมฆะ  เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  แต่อาจได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  เพราะได้ครอบครองที่ดินมาเกินกว่า  ๑๐  ปี  นับแต่ได้รับการส่งมอบการครอบครอง