สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ต่างฝ่ายต่างประมาทบริษัทประกันภัยต้องจ่ายหรือไม่เพียงใด

            การที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแล้ว  เมื่อบริษัทประกันภัยต้องคุ้มครองผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลภายนอกตามกฎหมายแล้ว  กรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น  แต่มีปัญหาว่า  หากปรากฏว่า  ฝ่ายผู้เอาประกันภัยมีส่วนประมากกว่าฝายบุคคลภายนอก  บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวนหรือไม่ 

            หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้มีดังนี้


มาตรา 223  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

            มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

            มาตรา 438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

            เพื่อความเข้าใจในหลักกฎหมายว่า  เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากกระทำละเมิด เช่น  รถชนกัน  เป็นต้น  ก็เรียกได้ว่า  เกิดความเสียหาย  จะต้องพิจารณาต่อไปว่า  ฝ่ายผู้เสียหายมีการก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นหรือไม่  หากปรากฏว่า  ฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว  นั้นหมายความว่า   ต่างฝ่ายต่างประมาทได้กระทำละเมิดต่อกัน  จึงมีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว  จะต้องนำเรื่องความประมาทตามพิจารณาว่า  ใครเป็นฝ่ายประมาทกว่ากันหรือฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากัน  แล้วชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง  ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  223  ประกอบมาตรา  438

ยกตัวอย่างเช่น 

 

นาย  ก   ขับรถยนต์ตัดหน้ารถยนต์ที่  นาย  ข  ขับมาตามถนน  ซึ่งขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  เป็นเหตุให้  รถยนต์ของนาย  ข  เสียหาย  จนซ่อมแซมไม่ได้  ในกรณีเช่นนี้  การกระทำของนาย ก  และนาย  ข  เป็นการกระทำละเมิดซึ่งต่างฝ่ายต่างประมาท  เป็นต้น    
หากปรากฏว่า  ฝ่ายที่เอาประกันภัยได้ประมาทมากกว่าบุคคลภายนอก 

 

บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่


คำตอบนั้น  ฝ่ายที่เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกแล้ว  บริษัทประกันภัยจำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิดหรือบุคคลภายนอกตามสัญญาประกันภัยนั้น
ประเด็นปัญหาที่ตามมามีว่า  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกหรือผู้ถูกกระทำละเมิดเป็นจำนวนเท่าไหร่
คำตอบนั้น  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกทำละเมิดเต็มจำนวน  เพราะเนื่องจากสัญญาประกันภัยได้สัญญาไว้ว่า  สัญญาประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิดตามสัญญาประกันภัย  ไม่ใช่เป็นเรื่องการเอาเกิดเหตุการณ์กระทำละเมิดมาเป็นข้อพิจารณาว่า  ฝ่ายใดประมาทมากกว่ากัน     

 

            ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องดังนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2561
โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่ ด. เป็นผู้ขับ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีที่ ช. เสียชีวิตทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ด. ขับรถบรรทุกและรถพ่วงด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์คันที่ ช. ขับเป็นเหตุให้ ช. ถึงแก่ความตาย โดย ช. ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย แต่ ด. มีส่วนประมาทมากกว่า เมื่อตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.3 ระบุว่า ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน ดังนั้น เมื่อ ช. เป็นผู้ประสบภัยที่ ด. จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะเหตุที่ ด. เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ช. จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงที่ ด. เป็นผู้ขับไว้จากนายจ้างของ ด. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับละ 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท

 

            คำพิพากษาตัวเต็ม


โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 901,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของนางสาวสุกัญญาหรือชุติกานต์ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 60 - 6700 กรุงเทพมหานคร แบบภาคสมัครใจและภาคบังคับไว้จากบริษัท น่ำเฮง สตีล จำกัด ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 31 ธันวาคม 2555 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และรับประกันภัยรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 50 - 0859 กรุงเทพมหานคร แบบภาคสมัครใจและภาคบังคับไว้จากบริษัทน่ำเฮง สตีล จำกัด โดยภาคสมัครใจระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 22 สิงหาคม 2555 สิ้นสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ภาคบังคับระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 22 สิงหาคม 2555 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2556 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ในกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. เป็นเงินฉบับละ 500,000 บาท ต่อคน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กำหนดจำนวนเงิน

คุ้มครองผู้ประสบภัยฉบับละ 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา นางสาวชุติกานต์ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ฬฉส กรุงเทพมหานคร 237 โดยมีเด็กหญิงซู นั่งอยู่ด้านหน้ามีผ้าผูกติดไว้กับหน้าอกของนางสาวชุติกานต์ และมีเด็กหญิงนภสร นั่งซ้อนท้าย ไปตามถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่จำเลยรับประกันภัยซึ่งมีนายดวงแก้ว ลูกจ้างของบริษัทน่ำเฮง สตีล จำกัด เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้นางสาวชุติกานต์ และเด็กหญิงซูตกจากรถจักรยานยนต์ถูกล้อรถพ่วงทับถึงแก่ความตาย ส่วนเด็กหญิงนภสรได้รับบาดเจ็บ พันตำรวจโทนิโรธ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุคคโลสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นว่า การกระทำของนางสาวชุติกานต์เป็นความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย แต่เนื่องจากนางสาวชุติกานต์ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 โจทก์และนายชิย่า บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงซูร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายดวงแก้วเป็นคดีอาญา ศาลอาญาธนบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2452/2556 วันที่ 26 กันยายน 2556 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดวงแก้วเป็นจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรีด้วยมูลคดีเดียวกันตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 5252/2556 ซึ่งศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาทั้งสองสำนวนดังกล่าวเข้าด้วยกัน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 นายชิย่า โจทก์ และนายดวงแก้ว แถลงร่วมกันต่อศาลอาญาธนบุรีว่าสามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทผู้รับประกันภัยจะนำเงิน 500,000 บาท มาวางชดใช้ให้แก่นายชิย่าและโจทก์ โดยนายดวงแก้วขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ วันที่ 4 มีนาคม 2557 นายดวงแก้วยื่นคำร้องขอวางเช็คจำนวนเงิน 500,000 บาท ต่อศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่ผู้เสียหาย ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาว่านายดวงแก้วมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 157 ลงโทษจำคุกและปรับ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับจำนวน 700,000 บาท ซึ่งจำเลยชี้แจงต่อสำนักงาน คปภ. ว่า ที่จำเลยวางเงินในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5252/2556 ของศาลอาญาธนบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 เป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เด็กหญิงซูเพียงรายเดียว ไม่รวมนางสาวชุติกานต์ โดยในส่วนของเด็กหญิงซูยินดีจ่ายเพิ่มเติมให้ทายาทโดยธรรมอีก 200,000 บาท เต็มความคุ้มครองทั้งในส่วนภาคสมัครใจและภาคบังคับ ส่วนกรณีนางสาวชุติกานต์เนื่องจากพนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ นายดวงแก้วยื่นคำแก้อุทธรณ์ระบุว่าเหตุเกิดจากความประมาทของนางสาวชุติกานต์ด้วย จึงขอรอผลคดีถึงที่สุดก่อน ซึ่งจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีก 200,000 บาทแล้ว ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โจทก์นำสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนจำเลยขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา หากมีความเห็นประการใดให้แจ้งจำเลยทราบเพื่อดำเนินการต่อไป วันที่ 27 มกราคม 2558 จำเลยเข้าชี้แจงยื่นเอกสารเพิ่มเติม โจทก์รับทราบการชี้แจงและแจ้งว่าจะใช้สิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล โจทก์ได้รับเงินจากนายดวงแก้วและนายจ้างเป็นค่าจัดการศพ 90,000 บาท และโจทก์นำบันทึกการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไปขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีเด็กหญิงซูเสียชีวิตเป็นเงิน 200,000 บาท กรณีนางสาวชุติกานต์เสียชีวิตเป็นเงิน 35,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลเด็กหญิงนภสรอีกประมาณ 1,000 บาท จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ฬฉส กรุงเทพมหานคร 237 ซึ่งบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จ่ายเงินประมาณ 236,000 บาท ในชื่อของโจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า นางสาวธิดารัตน์ เคยเบิกความไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.297/2558 ของศาลชั้นต้นว่า หากจำเลยต้องรับผิดจะต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ทั้งส่วนรถบรรทุกและรถพ่วงจำนวน 400,000 บาท และต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจอีก 300,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 28/2552 และที่ 27/2554 จำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่นายดวงแก้ว เป็นคนขับรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีที่นางสาวชุติกานต์ เสียชีวิตทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 700,000 บาท ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 28/2552 และที่ 27/2554 ซึ่งคำสั่งนายทะเบียนที่ 28/2552 ข้อ 3 การคุ้มครองผู้ประสบภัย ข้อ 3.1.3 ระบุว่า ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน เมื่อนางสาวชุติกานต์เป็นผู้ประสบภัยที่นายดวงแก้วจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะเหตุที่นายดวงแก้วเป็นฝ่ายประมาทมากกว่านางสาวชุติกานต์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงที่นายดวงแก้วเป็นผู้ขับไว้จากบริษัทน่ำเฮง สตีล จำกัด นายจ้างของนายดวงแก้วจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฉบับละ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท ส่วนคำสั่งนายทะเบียนที่ 27/2554 ข้อ 1 ข้อตกลงคุ้มครอง ข้อ 1.1 วรรคสอง ระบุว่า กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท ต่อคน แต่หากการเสียชีวิตนั้นทำให้มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการเสียชีวิตของบุคคลภายนอกนั้นไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ต่อคน เมื่อนางสาวชุติกานต์เป็นบุคคลภายนอกที่เสียชีวิตอันเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถบรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยรับประกันภัยไว้ ไม่ใช่ผู้ขับรถบรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองตามที่ระบุไว้ในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ข้อตกลงคุ้มครอง และข้อเท็จจริงรับฟังตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่านายดวงแก้วมีส่วนประมาทมากกว่านางสาวชุติกานต์ จึงเห็นควรกำหนดให้นายดวงแก้วรับผิดสองส่วนจากสามส่วน จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ติดใจเรียกร้องในส่วนนี้ 300,000 บาท อันเป็นจำนวนขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 27/2554 จำเลยจึงต้องรับผิดจำนวนสองส่วนในสามส่วนเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทั้งสิ้น 600,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 10.5 และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 5 แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุละเมิดนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน มิใช่ผู้กระทำละเมิดหรือผู้ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับมิได้ระบุให้จำเลยต้องร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุละเมิด หากแต่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด และเมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โดยได้ความจากสำเนาบันทึกการให้ถ้อยคำและการเจรจาว่า วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้รับมอบอำนาจจำเลยไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อเจรจาข้อร้องเรียน ซึ่งในวันดังกล่าวยังตกลงกันไม่ได้ โดยในข้อ 2.2 ระบุว่า ผู้ร้องเรียนคือโจทก์ประสงค์จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจขั้นต่ำตามที่ คปภ. กำหนด 200,000 บาท 200,000 บาท และ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ข้อ 3 ระบุว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้มาเมื่อไม่มีข้อยุติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะขอนำเรื่องทั้งหมดไปพิจารณาแล้วจะแจ้งผลการพิจารณาให้คู่กรณีต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการทวงถามโดยไม่ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินไว้ เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่เรียกร้องถือได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2557 จำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ