ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นสินสอด |
---|
ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทและห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 75,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทและเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่อง อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 ต่อมาประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา |
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่นำมาเป็นสินสอดให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่นางรุ่งนภา บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสอดตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวของโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายมาใส่พาน สัญญาจะซื้อจะขายมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญา ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่นางรุ่งนภาบุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วยจึงไม่ใช่สินสอดตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม ทั้งปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ |