สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

บุคคลล้มละลายออกเช็คสั่งจ่ายก่อนล้มละลายมีผลเป็นอย่างไร

หลายๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ท่านมีความคิดว่า  บุคคลล้มละลายไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้ในระหว่างล้มละลาย  เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย  นิติกรรมเหล่านั้นตกเป็นโมฆะ  ไม่มีผลผูกพันบุคคลล้มละลาย  จากความรู้ดังกล่าวนั้น  หากว่าบุคคลล้มละลายออกเช็คชำระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนที่ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว  แล้วต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค  ผลทางกฎหมายจะมีอย่างไร  และจะส่งผลทำให้บุคคลล้มละลายนั้นพ้นจากความผิดทางอาญา  ในข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเงินชำระตามเช็คหรือไม่  โดยในประเด็นนี้  การที่บุคคลล้มละลายออกเช็คก่อนที่ตนจะล้มละลาย  ถือว่ามีการกระทำความผิดในขณะออกเช็คแล้ว  แม้จะเป็นการออกเช็คสั่งจ่ายชำระเงินล่วงหน้าและเช็คนั้นธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คภายหลังจากศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว  ก็ไม่ทำให้ผู้ออกเช็คนั้นพ้นจากความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  พ.ศ.๒๕๓๔  ไปได้  ดังนั้น  บุคคลล้มละลายออกเช็คก่อนที่ตนจะล้มละลายก็เป็นความผิดทางอาญาในข้อหา  สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเงินชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663 - 15664/2555
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยสำนวนหลังต่อจากโทษจำเลยสำนวนแรกและนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 566/2547 และ 567/2547 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกสำนวนแรก 2 กระทง กระทงละ 1 เดือน เป็นจำคุก 2 เดือน สำนวนหลัง 2 กระทง กระทงละ 1 เดือน เป็นจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน และนับโทษจำคุกในสำนวนหลังต่อจากโทษจำคุกในสำนวนแรก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาข้อ 2.3 และข้อ 2.5 ของจำเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่นายอภิรัตน์ ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 วันที่ 15 ตุลาคม 2546 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 และวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ตามใบคืนเช็ค เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และวันที่ 20 กันยายน 2547 ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้หนี้เงินที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้ซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ความผิดเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเป็นเวลาหลังจากจำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน .... " หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน