ผลของการทำสัญญายอมในศาลโดยการส่งมอบการครอบครองในป่าสงวน |
---|
ป่าสงวนนั้น เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไม่อาจถูกยึดหรืออายัดได้ จึงไม่อยู่ในขอบข่ายของการบังคับคดี แต่ว่า ระหว่างเอกชนด้วยกัน เมื่อเอกชนผู้หนึ่งได้เข้าไปครอบครองที่ดินในป่าสงวน เอกชนผู้นั้นย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้น หากมีบุคคลใดมารบกวนการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินโดยปกติสุข ผู้นั้นย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ผู้ที่มาแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการใช้ยันกันระหว่างเอกชนด้วยกัน แต่หากว่า รัฐต้องการที่ดินคืนจากเอกชนดังกล่าว เอกสารผู้นั้นจะอ้างการมีสิทธิครอบครองใช้ยันกับรัฐไม่ได้ ต้องออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนั้น เอกชนที่เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชนผู้นั้น หากปรากฏว่า ในการพิจารณาคดีเรียกร้องค่าเสียหาย จะตกลงกันว่า ให้เอาสิทธิครอบครองในป่าสงวนนั้น ชดใช้หนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์หรือผู้เสียหายได้หรือไม่ คำตอบว่า ไม่สามารถกระทำการโอนสิทธิครอบครองในที่ดินป่าสงวนให้ผู้อื่นได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวตามกฎหมาย เว้นแต่ตกทอดสู่ทายาท แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมให้ ก็ถือว่าเป็นการทำคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง โจทก์ฟ้องต่อศาลชั้นต้นให้เลิกห้าง ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งผลกำไรและสวนปาล์มแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีใจความว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่พิพาทคดีนี้ให้กับบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยบริษัทดังกล่าวมีโจทก์และจำเลยทั้งสองถือหุ้นฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม 2544 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำข้อตกลงเพิ่มเติมโดยศาลชั้นต้นจดในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองจะดำเนินการเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายใน 1 ปีนับแต่วันนี้ (5 มีนาคม 2544) หากกรมป่าไม้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยังไม่พิจารณาอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ต่อสัญญา (ที่ถูกต่ออายุหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ) ยอมให้ศาลตั้งคนกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายโดยนำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสวนปาล์มและค่าใช้จ่ายอื่นจากการทำสวนปาล์มพิพาทมาแบ่งปันคนละครึ่งทุกระยะ 3 เดือน จนกว่าจะบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และให้ถือว่าเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนด 1 ปี ตามข้อตกลงเพิ่มเติม โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อเป็นคนกลางรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายต่อมาจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นยังคงมีคำสั่งให้ตั้งคนกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน |
|