สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ผู้เยาว์ทำนิติกรรม ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

หลักเกณฑ์ของบุคคลที่จะบรรลุนิติภาวะ


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 20  ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1448  การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

คำอธิบาย


บุคคลที่สามารถทำนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้นั้น  บุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย  ซึ่งกฎหมายไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ของการบรรลุนิติภาวะ  โดยใช้อายุของบุคคลนั้นๆ  เป็นเกณฑ์  กล่าวคือ  บุคคลใดมีอายุ  ๒๐  ปี  บริบูรณ์แล้ว  ย่อมบรรลุนิติภาวะโดยปริยาย (  มาตรา  ๑๙ )  ตัวอย่างเช่น  นาย  ก  เกิดเมื่อวันที่  ๒๐  มกราคม  ๒๕๔๒  นาย  ก  ย่อมบรรลุนิติภาวะในวันที่  ๒๑  มกราคม  ๒๕๖๒  เวลา  ๐๐.๐๑  น.  เป็นต้นไป  เป็นต้น
ตัวอย่างคำพิพากษา  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2558   จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่ง ป.พ.พ. ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันได้ การทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
อีกกรณีหนึ่ง  บุคคลบรรลุนิติภาวะโดยไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์เรื่องอายุเป็นเกณฑ์ในการบรรลุนิติภาวะได้มีอีกกรณีหนึ่ง  คือ  บุคคลที่มีอายุ  ๑๗  ปี  บริบูรณ์ทำการสมรสโดยความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองทำการสมรสกันโดยการจดทะเบียนสมรสต่อหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนสมรสแล้ว  บุคคลทั้งสองที่ได้ทำการสมรสกันนั้นย่อมบรรลุนิติภาระนับแต่วันจดทะเบียนสมรส  ข้อสังเกต  การสมรสโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส  แม้ได้สมรสกันตามประเพณี  ยังไม่ถือว่าเป็นการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่เป็นผลให้เป็นการบรรลุนิติภาวะได้ตามกฎหมาย  (  มาตรา  ๒๐  ประกอบ  มาตรา  ๑๕๕๘  )  ตัวอย่างเช่น  เมื่อวันที่  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒  นาย  ก  อายุ  ๑๗  ปี  และนางสาว  ข  อายุ  ๑๘  ปี  ได้จดทะเบียนสมรสกันที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่  โดยได้รับความยินยอมจาก  นาย  ค  และนาง  ง  ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรของนาย  ก  และได้รับความยินยอมจาก  นาย  จ  และนาง  ฉ  ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรของนางสาว  ข  นาย  ก และนางสาว  ข  ย่อมบรรลุนิติภาวะนับแต่วันที่  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒  เป็นต้นไป  เป็นต้น   
ตัวอย่างคำพิพากษา  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2544   การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่น แต่มิได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะและยังคงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมารดา เมื่อจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
ดังนั้น  บุคคลจะบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายได้   จึงมีอยู่  ๒  กรณี  ตามที่ระบุไว้ใน  มาตรา  ๑๙  และ  มาตรา  ๒๐  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กล่าวคือ  โดยการใช้หลักเกณฑ์ของอายุ  และ  โดยการสมรสโดยความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร

    ต่อไปมี  ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า  หากผู้เยาว์หรือบุคคลที่ไม่ได้บรรลุนิติภาวะทำนิติกรรม  จะมีผลเป็นอย่างไร
หลักเกณฑ์  ของการผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น  มี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 22  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 23  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 24  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 26  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 27  ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้
ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
ถ้าการประกอบธุรกิจหรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้ หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้
ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้
การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต

 
 

คำอธิบาย
โดยหลักแล้ว  ผู้เยาว์ไม่อาจทำนิติกรรมใดๆ  ได้  แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน   มิฉะนั้น  ผลของการกระทำนิติกรรมไปโดยฝ่าผืนความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  สัญญาหรือนิติกรรมนั้นๆ  ย่อมเป็นโมฆียะ  ส่วนโมฆียะเป็นอย่างไรนั้น  จะได้อธิบายต่อไป  ทั้งนี้  นิติกรรมบางส่วนผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  นั้นก็คือ  ตามมาตรา  ๒๒ ถึง  ๒๗  ซึ่งเป็นเรื่องของผู้เยาว์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายผู้เดียว  โดยได้รับการให้หรือการยกหนี้หรือภาระให้  การให้หรือการยกหนี้หรือภาระให้ผู้เยาว์นั้น  จะต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ  ทั้งสิ้น  มิฉะนั้น  นิติกรรมการให้หรือยกหนี้ให้นั้น  จะต้องเป็นโมฆียะทันที  (  มาตรา  ๒๒  )  ส่วนนิติกรรมใดๆ  ที่ผู้เยาว์จะต้องทำเองเป็นการเฉพาะตัว  คำว่า  เฉาพะตัว  คือไม่มีใครสามารถทำแทนผู้เยาว์ได้  เช่น  วาดภาพ  หรือการกระทำที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวเท่านั้น  เป็นต้น  เหล่านี้  ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ( มาตรา  ๒๓ )  ส่วนผู้เยาว์สามารถซื้อสินค้าจากแม่ค้าจากท้องตลาดได้ด้วยตนเอง  สามารถซื้อสินค้าที่เป็นการบริโภคได้ด้วยตนเอง  โดยใช้หลักที่ว่า การสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร  แต่ทั้งนี้  ผู้เยาว์จะซื้อสินค้าไปแจกให้แก่เพื่อนๆ  จำนวนมาก  โดยที่ไม่สมกับฐานานุรูปแก่ตนไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ฐานานุรูปของผู้เยาว์แต่ละคนไม่เท่ากัน  ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป  (  มาตรา  ๒๔ )  ส่วนผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้ด้วนตนเอง  โดยที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่มีอำนาจเข้ามาก้าวล่วงได้  แต่มีเงื่อนไขเรื่องอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง  คือผู้เยาว์ที่จะทำพินัยกรรมนั้น  จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า  ๑๕  ปี  บริบูรณ์  (  มาตรา  ๒๕  )  ส่วนเรื่องของการจำหน่ายสินค้าหรือทรัพย์สินใดๆ  โดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว  เรื่องจากจัดการทรัพย์สินนั้นๆ  ผู้เยาว์สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมในการจัดการทรัพย์สินนั้นจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก  (  มาตรา  ๒๖  )  และในทำนองเดียวกับ  ผู้แทนโดยชอบธรรมให้ผู้เยาว์เป็นเจ้าของกิจการใดแล้ว  ผู้เยาว์มีอำนาจในการจัดการบริหารกิจการนั้นด้วยตนเอง  โดยที่ไม่ต้องมาขอความยินยอมในการจัดการกิจการหรือบริหารจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก  (  มาตรา  ๒๗  )  ดังที่กล่าวมาแล้วนี้  เป็นการทำนิติกรรมที่ผู้เยาว์ไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม 


ผลของการฝ่าฝืน  การทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม


การทำนิติกรรมโดยปราศจากความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ส่งผลให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ  “โมฆียะ”  นั้น  หมายความว่า  สัญญาหรือนิติกรรมนั้นๆ  มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกกล่าวจากผู้มีอำนาจบอกล้างโมฆียะ  และหากมีการบอกล้างโมฆียกรรมแล้ว  ส่งผลให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ  ส่งผลให้นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่แรก  และต้องคืนทรัพย์ให้แก่กันในฐานกลับคืนสู่ฐานะเดิม   กล่าวคือ  คืนเงิน  คืนทรัพย์  ให้แก่กัน  ทั้งนี้เป็นไปตาม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 176  วรรคแรก  โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน  วรรคสอง  ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ วรรคสาม ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียกรรม
นิติกรรมใดที่แม้แต่ผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่สามารถให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเพื่อทำนิติกรรม  จึงจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มีดังนี้  มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ดังนั้น  การทำนิติกรรมใดๆ  ของผู้เยาว์  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์จะต้องพิจารณาว่า  ท่านสามารถทำนิติกรรมนั้นได้หรือไม่  และจะต้องขออนุญาตให้ทำนิติกรรมนั้นก่อนหรือไม่ 

 

ผลของการฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตศาลก่อนทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์จะเป็นอย่างไร ท่านสามารถอ่านได้จากบทความลิงค์ข้างล่างนี้ได้

ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์ทำให้ไม่ผูกพันผู้เยาว์

 
 
 
โดย ทนายความเชียงใหม่