ฝ่าไฟแดงทำให้รถคันอื่นเกิดอุบัติเหตุถือว่ามีส่วนทำผิดร่วมด้วย |
---|
การกระทำโดยประมาทจะต้องพิจารณาจากการกระทำให้ครั้งก่อนของผู้กระทำว่าเป็นผลโดยตรงอันก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ หากว่าการกระทำนั้นเป็นผลโดยทำให้เกิดความเสียหายด้วยแล้ว ผู้นั้นกระทำโดยประมาทและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย เช่นในกรณีขับรถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรมาแล้ว ทำให้รถยนต์สวนมาต้องหักกลบแล้วไปชนกับรถยนต์อีกคัน ทำให้ได้รับความเสียหาย อย่างนี้ รถยนต์ที่ฝ่าสัญญาณไฟจราจรจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่รถยนต์ที่ถูกชนด้วย ทั้งนี้ รถยนต์คันที่สองก็สามารถฟ้องร้องให้รถยนต์ที่ฝ่าสัญญาณไฟจราจรชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้ด้วย เพราะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อรถยนต์คันที่สองเช่นกัน หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป มาตรา 226 บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2561 การที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพราะเหตุที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ย อ้างว่าจำเลยร่วมมีส่วนประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยร่วมให้การว่าไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อกับจำเลยที่ 2 คำให้การของจำเลยร่วมย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 2 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยร่วม เป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดได้ พฤติการณ์ที่จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีเครื่องหมายจราจรเขตปลอดภัยเส้นทึบห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ ทั้งจอดรถล้ำส่วนกระบะบางส่วนเข้าไปในทางเดินรถลงสะพานจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หากจำเลยร่วมไม่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรไปจอดรอบริเวณดังกล่าว เหตุเฉี่ยวชนย่อมไม่เกิดขึ้น เช่นนี้จำเลยร่วมจึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิจารณาความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายขึ้นสะพานซึ่งไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถเมื่อขับลงสะพานให้หยุดได้ในระยะปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับจอดกีดขวางอยู่ และความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบริเวณทางลงสะพานซึ่งเป็นจุดที่ผู้ขับขี่รถอื่นไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถได้อย่างชัดเจนทั้งยังหยุดรถกีดขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยร่วม แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาทเลินเล่อ แต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนความรับผิดหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนก็ได้ โจทก์ที่ 2 เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่าย หลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล แม้โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมางานศพจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการเดินทางและค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อพิเคราะห์ระยะเวลาจัดงานศพ 5 วัน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ รวมกัน 110,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นควรกำหนดให้ 80,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือญาติผู้ตาย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม มิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดามารดาแต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 1,800,000 บาท กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 22,700 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 4 ส่วน เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 20,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,675 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561) ___________________________ โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้คำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 14,610,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายภัทรกร เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,710,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และชำระเงิน 22,700 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ |
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นมารดาและบิดาของนายวรรณเทพ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ สังกัดสำนักการโยธา ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 95 - 1090 กรุงเทพมหานคร บรรทุกแอสฟัลต์ผสมร้อนไปตามถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 บริเวณหน้าปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีช่องเดินรถไปและกลับฝั่งละ 2 ช่อง จากทางเขตประเวศมุ่งหน้าไปทางเขตสวนหลวง โดยขับในช่องเดินรถด้านขวาลงสะพานข้ามคลองตะเข้ขบ ขณะเดียวกันจำเลยร่วมขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน ณห 4715 กรุงเทพมหานคร ออกจากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหลบไปทางด้านขวาเข้าไปในทางเดินรถฝั่งตรงข้ามเฉี่ยวชนด้านหน้าของรถกระบะคันที่จำเลยร่วมขับแล้วไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ลขษ กรุงเทพมหานคร 651 ที่ผู้ตายขับมาในช่องเดินรถด้านซ้ายของถนนฝั่งตรงข้าม เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ และรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุขทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุไว้ ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ในข้อหาความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลย (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คู่ความไม่อุทธรณ์ ฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์เท่านั้นมีสิทธิฟ้องเรียกได้และกำหนดให้ 22,700 บาท คู่ความไม่ได้อุทธรณ์คัดค้าน ค่าเสียหายส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คู่ความไม่ฎีกาคัดค้าน ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้หรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ไม่นำสืบพยานหลักฐานว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกาต่อมา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่ง มาตรา 57 (3) เพราะเหตุที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ย อ้างว่าจำเลยร่วมมีส่วนประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยร่วมให้การว่าไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อกับจำเลยที่ 2 คำให้การของจำเลยร่วมย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 2 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยร่วม เป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดได้ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการที่สองว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากร้อยตำรวจเอกวรชัยหรือชยุตม์พงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุข ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและนายสุขี เจ้าพนักงานสำนักการจราจรและขนส่งซึ่งเป็นผู้ตีเครื่องหมายจราจรบริเวณที่เกิดเหตุพยานจำเลยทั้งสองเบิกความโดยสรุปว่า จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 อยู่ในทางราบห่างจากสะพานข้ามคลองประมาณ 10 เมตร สะพานดังกล่าวมีลักษณะนูนสูงคล้ายหลังเต่า สูงกว่าพื้นผิวถนนก่อนขึ้นและลงสะพาน หากขับขี่รถยนต์จากด้านที่จำเลยที่ 1 ขับขึ้นสะพานมาจะมองเห็นรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับมาจอดรอเลี้ยวขวาได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากสะพานสูงกว่าทางราบของพื้นผิวถนน จุดเกิดเหตุบริเวณกึ่งกลางถนนมีการตีเส้นจราจรลักษณะเป็นเขตปลอดภัยกว้างประมาณ 1 เมตร ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์ไม่สมควรเลี้ยวขวาตัดผ่านช่องเดินรถหรือจอดขวางบนพื้นถนนในช่องเดินรถเพื่อจะเลี้ยวขวา สาเหตุที่มีการทำเครื่องหมายจราจรลักษณะเป็นเขตปลอดภัยบริเวณที่เกิดเหตุเป็นเส้นทึบเพราะเป็นทางลง-ขึ้นสะพาน ไม่สามารถเปิดช่องให้รถยนต์ที่ออกจากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 เลี้ยวขวาขึ้นสะพานหรือรถยนต์ที่มาจากแยกประเวศเลี้ยวขวาเข้าซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ได้ เนื่องจากจะเป็นอันตราย ทั้งข้อกำหนดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ออกตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 18 ค. (3) ได้ให้ความหมายของเขตปลอดภัยหรือเกาะสีไว้ว่า ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว พฤติการณ์ที่จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีเครื่องหมายจราจรเขตปลอดภัยเส้นทึบห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ ทั้งจอดรถล้ำส่วนกระบะบางส่วนเข้าไปในทางเดินรถลงสะพานจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หากจำเลยร่วมไม่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรไปจอดรอบริเวณดังกล่าว เหตุเฉี่ยวชนย่อมไม่เกิดขึ้น เช่นนี้จำเลยร่วมจึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิจารณาความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายขึ้นสะพานซึ่งไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถเมื่อขับลงสะพานให้หยุดได้ในระยะปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับจอดกีดขวางอยู่ และความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบริเวณทางลงสะพานซึ่งเป็นจุดที่ผู้ขับขี่รถอื่นไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถได้อย่างชัดเจนทั้งยังหยุดรถกีดขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยร่วม จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วน และจำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง 1 ใน 4 ส่วน แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาทเลินเล่อ แต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนความรับผิดหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนก็ได้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองได้เลือกฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มจำนวน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน ส่วนจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนของตน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด สำหรับค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายอายุ 22 ปี อยู่ระหว่างการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงในประเทศไทย แม้ข้อที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้ผู้ตายไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาจะมีรายได้สูงจะเป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอนดังจำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้ตามจำนวนและระยะเวลาที่เห็นสมควรได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงรายได้ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพประกอบอายุของผู้ตายและของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี รวมเป็นเงิน 3,600,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 2 เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่าย หลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล แม้โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมางานศพจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการเดินทางและค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อพิเคราะห์ระยะเวลาจัดงานศพ 5 วัน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ รวมกัน 110,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นควรกำหนดให้ 80,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้ความจากคำเบิกความจำเลยที่ 1 และนายชุมพล ข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 2 ว่าเป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือญาติผู้ตาย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม มิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดามารดาแต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) จึงกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 1,800,000 บาท กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 22,700 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 4 ส่วนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 20,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,675 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ชำระเงิน 1,822,700 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 1,800,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ใน 4 ส่วนของจำนวนเงินแต่ละจำนวนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ |