ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 นาย ก ได้จดทะเบียนสมรสกันกับนางสาว ข แต่นาย ก และนาง ข ไม่ได้จัดพิธีแต่งงานทางศาสนา จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 นาย ก ได้ทำชู้กับนางสาว ง นาง ข จับได้ว่า นาย ก มีชู้ นาง ข สามารถฟ้องหย่า นาย ก ได้ เป็นต้น ในทางกลับกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดพิธีทางศาสนาแล้วก็ตาม ก็ไม่ถือว่ามีการสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมายไม่มีสิทธิตามมาตรา 1516 ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 นาย เอ จัดพิธีแต่งานกับ นางสาว บี โดยนาย เอ สัญญากับนางสาว บี ว่า ในอีก 3 อาทิตย์ จะไปจนทะเบียนสมรสกับนางสาว บี ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนดนาย เอ ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว บี และต่อมา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 นางสาว บี จับได้ว่า นาย เอ มีชู้เป็นนางสาวซี เช่นนี้ นางสาวบีจะฟ้องหย่านาย เอ ไม่ได้ รวมถึงจะเรียกร้องค่าเสียหายจากนางสาวซี ก็ไม่ได้เช่นกัน เป็นต้น ดังนั้น การจะเกิดสิทธิในการฟ้องหย่าได้จะต้องมีการจดทะเบียนสมรสเสียก่อน
ตามกฎหมายมาตรา 1516(1) คำต่อไปคำว่า “อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ” นั้น มีความหมายว่า ยกย่องผู้หญิงคนอื่นหรือผู้ชายคนอื่น เป็นภริยาหรือสามีของตนเองอีกคนหนึ่ง โดยมีการแสดงออกให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบว่าผู้หญิงหรือผู้ชายอื่น เป็นภริยาหรือสามีของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น (1)ชายหรือหญิงอื่นนั้นมาอยู่บ้านด้วย จนมีบุตรร่วมกัน นอกจากนั้นยังให้ใช้นามสกุล หรือ(2)แม้แต่ไม่เคยพาออกสังคมหรือแนะนำให้บุคคลอื่นได้รับทราบว่าเป็นภริยา แต่ได้ไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยในหมู่บ้านที่เป็นชุมชนในเวลากลางคืน ไปรับเมื่อมีธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน เป็นต้น
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาดังนี้ ตัวอย่างที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561 โจทก์นำ จ.มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1516 (1)
ตัวอย่างที่ 2 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
หลักฐานในการฟ้องหย่าในเบื้องต้นมีดังนี้
1.ใบทะเบียนสมรส
2.หลักฐานการโอนเงินอุปการะเลี้ยงดูชู้
3.หลักฐานการสนทนา(ถ้ามี)
4.ภาพถ่ายความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสกับชู้
5.หลักฐานการรับรองบุตรหรือใบสูติบัตรบุตรระหว่างคู่สมรสกับชู้(ถ้ามี)
6.หลักฐานการให้ใช้ชื่อสกุล(ถ้ามี)
7.ชื่อและนามสกุลของชู้
8.อื่นๆ ( ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป)
บทความอ่านต่อเนื่อง
นอกจาก คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ ตามมาตรา 1516(1) แล้ว คู่สมรส ยังสามารถฟ้องชายหรือหญิงที่มาเป็นชู้ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้อีกด้วย อ่านบทความต่อไป
ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ (คลิก) |