สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญากู้ยืมเงินต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่

ในประเด็นปัญหาเรื่องการปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น  บางคนอาจคิดว่า  ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่หรือบางคนอาจคิดว่า  ไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์  แต่ความคิดเหล่านั้นเป็นความคิดที่ผิด  เพราะมีผลทางด้านกฎหมายในการรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล  ส่งผลให้แพ้ชนะคดีกันเลย 

จึงมีประเด็นปัญหาต่อไปว่า  สัญญากู้ยืมเงินนั้นต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่  คำตอบคือ  ต้องปิดอากรแสตมป์ทุก 2,000  บาท  ให้ปิดอากรแสตมป์  1  บาท หากมีเศษเกินกว่า  2,000  บาท  ปัดขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น หากว่าจำนวนเงินในสัญญากู้มีจำนวน  2,001  บาท  จะต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน  2  บาท  ,หากว่าจำนวนเงินในสัญญากู้มีจำนวน  5,450  บาท  จะต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน  6  บาท  เป็นต้น 

เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์แล้ว  จะต้องทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น  เพราะมิฉะนั้นแล้ว  จะถือว่าไม่มีปิดอากรแสตมป์เช่นกัน

ดังนั้น  สรุปได้ว่า  สัญญากู้ต้องปิดอากรแสตมป์ตามจำนวนในสัญญากู้  ทุกๆ  2,000  บาท  ให้ปิดอากรแสตมป์จำนวน  1  บาท 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายรัษฎากร  มาตรา 108 ถ้าทำตราสารหลายลักษณะตามที่ระบุในบัญชีท้ายหมวดนี้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น เช่าและกู้ยืมเงินรวมกันไว้ หรือทำตราสารลักษณะเดียวกันหลายเรื่องบนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น ขายของสิ่งหนึ่งให้แก่คนหนึ่ง และขายอีกสิ่งหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งตามสภาพควรจะแยกกัน ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้ครบทุกลักษณะหรือทุกเรื่อง โดยปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นรายตราสารแยกไว้ให้ปรากฏว่าตราสารใดอยู่ที่ใด และแสตมป์ดวงใดสำหรับตราสารลักษณะหรือเรื่องใด   

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11073/2554

โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 611,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2545) ต้องไม่เกินจำนวน 61,875 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท ให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ บทบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์ที่ด้านใดของเอกสาร ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน เป็นแบบพิมพ์แผ่นเดียวกันมี 2 หน้า ด้านหน้าเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน ด้านหลังเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญาค้ำประกัน ปรากฏว่ามีการปิดอากรแสตมป์ดวงละ 20 บาท จำนวน 27 ดวง ดวงละ 5 บาท จำนวน 2 ดวง รวมเป็นค่าอากรแสตมป์ 550 บาท ที่ด้านหน้าซึ่งเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน จำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเป็นเงิน 550,000 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ประมวลรัษฎากร ลักษณะตราสาร 5 กู้ยืมเงินทุกจำนวน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินกู้ยืมเป็นค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ฉะนั้นตามหนังสือสัญญากู้เงินต้องปิดอากรแสตมป์ 275 บาท ส่วนบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ประมวลรัษฎากร ลักษณะตราสาร 17 ค้ำประกัน สำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน ครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกัน จึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่โจทก์ฎีกาทำนองว่าโจทก์มิได้ตั้งใจหรือเจตนาไม่ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญาค้ำประกัน และขออนุญาตส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันไปดำเนินการปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนเพื่อจะได้ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงที่เข้าใจคลาดเคลื่อนไป จึงไม่จำต้องหยิบขึ้นวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเห็นว่าหนังสือสัญญาค้ำประกัน มิได้ปิดอากรแสตมป์ไม่อาจใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่ต่อเนื่องกับบทความนี้
สัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่