สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญาขายฝากไม่ได้ระบุบ้านเอาไว้ด้วยผลจะเป็นอย่างไร

แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553

 

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้ 135,000 บาท แก่โจทก์ ในวันที่ 31 มกราคม 2538 หากผิดนัดยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแต่จำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2547 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยนั้น ความจริงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง โดยจำเลยโอนขายชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2546 จำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยในฐานะผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยยังมิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนราษฎรเท่านั้น ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยสิ่งปลูกสร้างหมายเลขทะเบียนที่ 50 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง คืนให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เป็นบ้านเลขที่ 50 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งเดิมเป็นของจำเลย ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2546 จำเลยทำสัญญาขายฝากให้แก่ผู้ร้อง มีกำหนด 2 ปี เป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยกับผู้ร้องทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้และเงื่อนไขการซื้อคืนตามเอกสารหมาย ร.2 ระบุว่า จำเลยตกลงขายบ้านไม้ทรงไทย 4 หลังซึ่งรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง โดยมิได้จดทะเบียนการซื้อขายนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า การซื้อขายบ้านพิพาทเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยกับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เห็นว่า แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วยสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้นเช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ