สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

หากรู้ว่าไม่สามารถชำระเงินได้และออกเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้จะมีผลอย่างไร

การกระทำความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 นั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย แต่หากเป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้แล้ว ย่อมผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ดังนั้น หากผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จะถือว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายไม่ได้
ในประเด็นนี้ ทนายความเชียงใหม่ ได้นำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกามาให้ผู้อ่านได้เป็นกรณีศึกษาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581 - 6582/2556 จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้
ย่อยาวดังนี้
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22, 91 นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 8 กระทง จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏว่าหลังจากเช็คฉบับแรกที่จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าแก่ผู้เสียหายถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็คฉบับดังกล่าว ผู้เสียหายก็ยินยอมให้จำเลยออกเช็คพิพาทมาแทนเช็คฉบับเดิม ต่อมาภายหลังจำเลยติดต่อผู้เสียหายมิให้นำเช็คเรียกเก็บเงิน เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินพอชำระหนี้ตามเช็คซึ่งผู้เสียหายก็ทราบและยินยอม ต่อมาจำเลยยืมเงินผู้เสียหายอีกหลายครั้ง โดยจำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุจำนวนเงินตามที่ยืมไปมอบให้แก่ผู้เสียหายซึ่งในช่วงแรกจำเลยสามารถนำเงินมาแลกเปลี่ยนเช็คที่ออกไว้ให้แก่ผู้เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยไม่มีเงินมาชำระให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงให้จำเลยทำสัญญากู้และให้จำเลยออกเช็คพิพาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับเช็คฉบับเดิมที่จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ พฤติการณ์ระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยแสดงว่า จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายทราบดีแล้วว่า ขณะที่ออกเช็คนั้นจำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คให้ผู้เสียหาย เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหาย ในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายกับจำเลยมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้ การกระทำของจำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหลักฐานใบเสนอราคา ใบส่งของชั่วคราว มานำสืบแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าผ้าม่านและอุปกรณ์ที่สั่งซื้อไปจากผู้เสียหายจำนวน 300,000 บาท และโจทก์ยังมีหลักฐานสัญญากู้มานำสืบ แสดงว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินผู้เสียหายอีกจำนวน 530,000 บาท โดยเอกสารดังกล่าวต่างมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ทุกฉบับโดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่ามิใช่ลายมือชื่อของตน ซึ่งมูลหนี้มีจำนวนเงินตรงกับยอดเงินตามเช็คทุกฉบับรวมกัน จึงต้องฟังว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ จำเลยควรมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์คงฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้เสียหายเท่านั้น และแม้ยอดหนี้มีจำนวนเงินตรงกับยอดเงินตามเช็คทุกฉบับรวมกัน ก็ไม่ใช่เหตุที่จะฟังว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้เพราะเช็คที่ออกเพื่อเป็นหลักประกันก็ย่อมต้องระบุจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตรงกับยอดหนี้ที่ค้างเช่นเดียวกัน การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้อย่างที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน