สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เช็คเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่

ในบางครั้งการกู้ยืมเงินไม่ได้ทำเป็นหลักฐานเป็นหนังสือระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้เอาไว้  แต่มีการเขียนเช็คสั่งจ่ายส่งมอบให้แก่ผู้กู้ไปแล้ว  อย่างนี้ถือว่าเป็นการหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้หรือไม่  เพราะในเมื่อได้สั่งจ่ายเงินตามที่ผู้กู้ต้องการแล้ว  และผู้กู้ได้รับเงินจากผู้ให้กู้ไว้แล้วครบถ้วน  ในประเด็นนี้  ตามกฎหมายแล้วจะถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีหรือไม่นั้น  ต้องพิจารณาว่า  หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีข้อความระบุไว้หรือไม่ว่า  เป็นการรับเงินไว้แล้วจะใช้คืน  หากว่าเอกสารดังกล่าวได้มีข้อความว่า  ได้รับเงินแล้วจะใช้คืน  ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้  โดยหลักการนี้  ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ยืนยันไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่  ๖๑๘๓/๒๕๕๖  คดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยรับผิดในมูลหนี้สัญญากู้ยืมเงินจึงตกอยู่ภายใต้บังคับตาม  ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓  วรรคหนึ่ง  ที่ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง  อย่างไรก็ดี  เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์  เพียงมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึ่งต้องชำระให้แก่โจทก์  และโจทก์สามารถนำสืบพบายบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมได้ 

ดังนั้น  กลับพิจารณาว่า  เช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้กู้นั้น  ว่ามีข้อความระบุไว้ว่า  ผู้ยืมได้รับเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้และจะใช้เงินคืนให้แก่ผู้ให้กู้หรือไม่  หากว่าไม่ได้ระบุไว้ในเช็คสั่งจ่ายตามเนื้อความดังกล่าวแล้ว  ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ 
จากคำตอบดังกล่าวนั้น  ได้มีคำพิพากษาฎีกาตัดสินเอาไว้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่  ๖๖๕๘/๒๕๔๘
เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 611,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 611,250 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่นางมาลัยเพื่อเป็นการประกันการกู้เงิน โดยไม่ได้กรอกข้อความหรือไม่ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า จำเลยกู้ยืมเงินนางมาลัยแล้วมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ไว้เป็นประกันเงินกู้โดยจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ นางมาลัยกรอกข้อความและจำนวนเงินในภายหลัง แล้วโจทก์จึงนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และฎีการวม 15,000 บาท แทนจำเลย.

โดยมีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้  
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๖๕๓  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่