สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

กรณีเมาแล้วขับเอารถยนต์ชนท้ายรถยนต์ของผู้อื่น ประกันต้องรับผิดหรือไม่

หากว่า เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ขับขี่รถยนต์ชนท้ายบุคคลอื่น โดยที่ผู้ขับเอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย จึงมีปัญหาว่า บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่ แล้วหากว่าบริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกหรือผู้เสียหายแล้ว สามารถดำเนินการอย่างไรต่อผู้เอาประกันภัยต่อไปได้หรือไม่อย่างไร
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 887  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
จากหลักกฎหมายดังกล่าว บริษัทประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก จะเอาข้อสัญญายกเว้นความรับผิดมาแก้ตัวว่าไม่ต้องรับผิดไม่ได้ ดังนั้น คำตอบแรก บริษัทประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก
คำตอบในข้อที่ ๒ ได้คำตอบว่า หากบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว สามารถฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำละเมิดได้

                เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2559
เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ