สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

แกล้งจดทะเบียนหย่า ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

ในสังคมปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่ามีสามีภรรยาหลายๆคู่  ที่ตอนแรกก็มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ต่อมาวันดีคืนดี ก็พากันไปจดทะเบียนหย่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือเหตุผลใดๆก็ตามแต่ แต่สามีภรรยาจดทะเบียนหย่ากันแล้วดังกล่าว ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาตามเดิม คือ ยังคงพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ดูแลกันดังเช่นเมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า เช่น เมื่ออีกฝ่ายเจ็บไข้ก็มีการดูแลรักษา รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว เป็นต้น การกระทำดังกล่าวกฎหมายมองว่า การจดทะเบียนหย่าดังกล่าวไม่มีผลในทางกฎหมาย กล่าวคือการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทำให้การสมรสยังคงมีอยู่
 
ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560 ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๕ “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
มาตรา ๑๕๓๑ “การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไปการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อม
สิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
มาตรา ๑๕๓๒ “เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
แต่ในระหว่างสามีภริยา
(ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า”

เมื่อเป็นเช่นกรณีที่ได้ศึกษาไปแล้วข้างต้น ทำให้การจดทะเบียนหย่าระหว่างสามีภริยาไม่มีผลตามกฎหมาย ส่งผลให้อำนาจปกครองทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสยังคงอยู่เหมือนว่าไม่ได้จดทะเบียนหย่าจากกัน เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลในทางกฎหมายแพ่งซึ่งเป็นเรื่องบังคับให้ชำระหนี้ตามคำฟ้อง เจ้าหนี้อาจจะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนหย่าในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากฟ้องคดีให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าแล้ว เจ้าหนี้ยังสามารถยึดทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาได้อีกด้วย เพราะแม้ได้ทรัพย์สินมาในระหว่างจดทะเบียนหย่า ทรัพย์สินดังกล่าวก็ยังคงเป็นสินสมรสของสามีและภริยาอยู่นั้นเอง ดังนั้น การจดทะเบียนหย่าโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะหย่าขาดจากกันจริงจึงไม่ใช่ทางออกของการหนี้ปัญหาหนี้สิน สำนักงานขอแนะนำว่า ให้เข้าไปเผชิญปัญหาอย่างถูกวิธี โดยการประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ หรืออาจจะมีแนวทางในทางเทคนิคของกฎหมาย เพื่อไม่ให้ต้องรับผิดตามหนี้สินเต็มจำนวน ซึ่งสำนักงานไม่สามารถอธิบายได้หมดภายใต้บทความนี้ เพราะข้อเท็จจริงของแต่ละคดีมีไม่เหมือนกัน ถึงอย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนหย่ากันหลอกๆ ยังมีข้อเสียอีกหลายประการ เช่น มีความผิดตามกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษจำคุก คือ มาตรา มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น อีกทั้งยังมีผลให้ทางภาษี คือไม่ได้ลดหย่อยภาษีสำหรับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นแล้ว สำนักงานจึงอยากให้ปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความเพื่อที่จะได้มีคำแนะนำที่ถูกวิธีและเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของท่านได้อย่างถูกต้อง

โดย ทนายความเชียงใหม่