สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ให้เขียนสัญญากู้ยืมเงินแลกกับการไม่ดำเนินคดีอาญาเป็นการข่มขู่โดยถูกกฎหมาย

โดยปกติแล้วการถูกข่มขู่ให้ทำสัญญาใดๆ  จะมีผลทำให้สัญญานั้น  ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย  กล่าวคือ  ไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาใดๆ ก็ตาม  จะเสียเปล่าไม่มีผลตั้งต้นนับแต่ทำสัญญา  ไม่อาจใช้บังคับได้ตามกฎหมาย  แต่การใช้สิทธิตามปกตินิยมมาข่มขู่แล้ว  จะมีผลให้สัญญาที่ถูกข่มขู่นั้น  ยังสมบูรณ์มีผลตามกฎหมาย  สามารถนำสัญญานั้นมาฟ้องร้องต่อศาล  เพื่อบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้นๆได้  ทั้งนี้  เป็นไปตามหลักกฎหมายดังนี้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 165  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่  การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่ 

คำตัดสินของศาลที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553

บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ ส. และ น. บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อแล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์แจ้งความเพื่อนดำเนินคดีแก่บุตรจำเลย ก. บุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของ ว. ซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้เจรจากัน ต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 สัญญากู้ยืมเงินจึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 200,000 บาท ตกลงชำระคืนเสร็จในวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 นับแต่วันที่กู้ยืมเงิน จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปีเศษ แต่ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 1 ปี เป็นเงิน 15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 215,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ นางกนกวรรณ บุตรสาวจำเลยเป็นนายหน้านำรถยนต์ไปจำนำแก่พวกของโจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ ต่อมาโจทก์นำนางกนกวรรณไปกักขังและบีบบังคับให้จำเลยลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องโดยมิได้กรอกข้อความ แล้วนำไปกรอกข้อความเอง หนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 215,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (13 มิถุนายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า เดิมนางกนกวรรณนำรถยนต์ 3 คัน ของโจทก์ นายสินชัยและร้อยเอกวรรณโนไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นแล้วไม่สามารถไถ่จำนำเพื่อนำรถยนต์มาคืนแก่โจทก์กับพวกได้ โจทก์กับพวกจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางกนกวรรณ แล้วนางกนกวรรณตกลงว่าจะหาเงินไปไถ่จำนำรถยนต์กับยินยอมชำระค่าเช่ารถยนต์แก่โจทก์ภายใน 7 วัน แต่นางกนกวรรณไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ จึงตกลงให้โจทก์หาเงิน 150,000 บาท ไปไถ่จำนำรถยนต์ โดยนางกนกวรรณยินยอมชำระเงิน 150,000 บาท กับค่าเช่ารถยนต์ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ และนางกนกวรรณขอให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 มอบให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้หรือไม่ เห็นว่า บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ นายสินชัยและร้อยเอกวรรณโน บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อ แล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่บุตรจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี นายกรกตบุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่านางกนกวรรณได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้ และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่เคยรู้จักกับโจทก์มาก่อนเลย ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์และไม่เคยเป็นหนี้โจทก์หรือกู้ยืมหรือขายที่ดินให้แก่โจทก์ ตลอดจนว่า เอกสารหมาย จ.1 จ.2 โจทก์กรอกข้อความเองและลายเซ็นโจทก์ก็แตกต่างกัน จำเลยทำหนังสือสัญญากู้พิพาทเพราะจำเลยเกรงกลัวต่อโจทก์เพราะโจทก์กับพวกบอกว่าหากจำเลยไม่ทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 นางกนกวรรณจะถูกดำเนินคดีนั้น เกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของนางกนกวรรณซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้ไปเจรจากันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีแล้วต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 สัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 จึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษา ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ