ไปทำงานที่อื่นไม่ยอมกลับมาดูแลภริยาและลูกฟ้องหย่าได้ |
---|
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่จะฟ้องหย่าสามีหรือภริยาของตนได้ตามมาตรานี้นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า สามีหรือภริยาของตนเองมีเจตนาที่จะไม่ต้องการมาเลี้ยงดูหรือดูแลคู่สมรสของตนเองอีกต่อไป หากการกระทำดังกล่าวได้กระทำเกินกว่า ๑ ปี แล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ โดยอาศัยมาตรา ๑๕๑๖(๔) ข้างต้นได้ คำพิพากษาของศาล ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยได้ปรึกษากันให้จำเลยเดินทางไปทำงานในร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งพี่สาวของจำเลยได้เปิดกิจการอยู่ ซึ่งจำเลยได้ส่งเงินให้โจทก์และบุตรมาโดยตลอด และโจทก์ก็ยังเคยเดินทางไปเยี่ยมจำเลยหลายครั้ง จำเลยมิได้ทิ้งร้างโจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริตเพราะโจทก์ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา |
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า กรณีมีเหตุหย่าตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์สรุปว่า เมื่อปี 2540 โจทก์ได้ย้ายมารับราชการที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำเลยได้ปรึกษากับโจทก์ว่าจำเลยอยากจะทำงานมีรายได้มาก ๆ และจำเลยขออนุญาตโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับกิจการร้านอาหารซึ่งญาติของจำเลยทำอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเบื้องต้นโจทก์ทัดทานเพราะเห็นว่าบุตรคนเล็กยังเล็กอยู่และโจทก์ต้องรับภาระดูแลบุตรถึง 2 คน แต่จำเลยไม่เชื่อฟังและได้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ระยะแรกช่วงปี 2540 ถึงปี 2541 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบทางโทรศัพท์ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใดกับใครและมีรายได้จากการทำงานจำนวนเท่าใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า แม้ช่วงแรกโจทก์จะคัดค้านเรื่องที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อจำเลยไปทำงานแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งเรื่องที่จำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอีก พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยคงทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่หลังจากจำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2 ปี โจทก์ได้มีโอกาสไปราชการต่างประเทศและโจทก์แวะไปพบจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์เจรจากับจำเลยว่าจำเลยไปทำงานร่วม 2 ปีแล้ว ขอให้กลับมาช่วยดูแลบุตรและอยู่กับโจทก์ที่ประเทศไทย ซึ่งจำเลยยืนกรานจะขอทำงานหาเงินต่อไปอีก หลังจากโจทก์กลับมาประเทศไทยแล้วนาน ๆ ครั้ง จำเลยเป็นฝ่ายใช้โทรศัพท์ติดต่อโจทก์ โจทก์ยืนยันขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัว จำเลยก็ไม่กลับคงพูดบ่ายเบี่ยงตลอด ในช่วงปี 2542 เมื่อจำเลยใช้โทรศัพท์ติดต่อโจทก์ โจทก์ยืนยันกับจำเลยว่าจำเลยไปทำงานนานแล้วโจทก์ลำบากมากและขอให้จำเลยช่วยกลับมาดูแลครอบครัว แต่จำเลยยืนยันว่าไม่กลับ โจทก์แจ้งจำเลยว่าหากจำเลยยืนยันที่จะทำงานอยู่ต่างประเทศต่อไปเรื่อย ๆ ปล่อยให้โจทก์และบุตรลำบาก โจทก์จะขอหย่าขาดกับจำเลย จำเลยก็ยืนยันไม่ขอกลับประเทศไทยและขอทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป หลังจากนั้นจำเลยไม่ติดต่อกับโจทก์อีกและโจทก์ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยได้เพราะจำเลยเปลี่ยนสถานที่ทำงานเกี่ยวกับร้านอาหารอยู่เสมอ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวแสดงว่าแม้เมื่อจำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วช่วงแรกโจทก์ไม่มีพฤติการณ์คัดค้าน แต่ในช่วงหลังคือหลังจากจำเลยไปทำงานประมาณ 2 ปี โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวโดยตลอด พฤติการณ์ของโจทก์ในช่วงหลังแสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป การที่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยโดยขอทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไปแม้โจทก์จะขอให้จำเลยกลับประเทศไทยหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าเมื่อโจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยกลับมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินคดีแทน ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยว่าทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยอยู่ต่างประเทศ ทนายจำเลยแจ้งถึงเหตุที่จำเลยต้องมาเบิกความด้วยตนเองตามระบบกระบวนการพิจารณาคดีให้จำเลยทราบและเข้าใจแล้ว จำเลยยืนยันว่าไม่สามารถมาเบิกความตามที่ทนายความแนะนำได้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ขอให้จำเลยกลับมาอยู่กับโจทก์ที่ประเทศไทยเป็นต้นมา เพราะจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไปโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้ฟังว่าจำเลยทิ้งร้างโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องหย่าจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นว่าเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. ยังเป็นผู้เยาว์ และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด ซึ่งโจทก์ประกอบอาชีพรับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปีแล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเช่นกัน" พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ภ. แต่เพียงผู้เดียว |