การจัดการสินสมรสที่ไม่ถูกต้องต้องเพิกถอนทั้งหมดหรือแต่บางส่วน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10513/2557

การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนคืนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมครึ่งหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหาร) โดยปลอดภาระผูกพัน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีกับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหาร) ครึ่งส่วนให้แก่โจทก์ด้วยการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน โดยปลอดภาระผูกพันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีกับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางหลิ๊ก มารดาของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2540 นางอณิกานต์ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหาร) ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางอณิกานต์ เป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนดเวลาไถ่คืน 1 ปี โดยสัญญาขายฝาก ข้อ 9 ระบุว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝากที่พิพาทตามสัญญาขายฝาก ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การจัดการทรัพย์สินที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 หากเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายนั้นย่อมจัดการได้เองตามมาตรา 1473 คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และนางอณิกานต์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) และตามสัญญาขายฝาก ข้อ 9 ระบุว่า โจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝากที่พิพาท ดังนั้น การที่นางอณิกานต์ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

----

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

- การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร