ให้ทรัพย์สินโดยเสน่หาแก่บุตรนอกสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7419/2543

แม้ ว. ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่โดยทางธรรมจรรยาซึ่งเป็นความรู้สึกผิดชอบภายในจิตใจที่เกิดจากพื้นฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้เป็นบิดาว. ย่อมมีความผูกพันที่จะให้การเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเกิดมาโดยปราศจากความผิดใด ๆ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยเป็นสำคัญซึ่ง ว. ก็ได้จัดให้จำเลยได้รับการศึกษาและดูแลจำเลยตลอดมาจนกระทั่งว. ถึงแก่ความตาย การที่ ว. โอนบ้านและที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ศ. ซึ่งเป็นมารดาของจำเลย โดยบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่ ว. มีอยู่ร่วมกับโจทก์ จึงเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาอันพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480

___________________________

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิบูลย์ชันสันติกุลวัฒน์ จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. 2494 จำเลยเป็นบุตรนายวิบูลย์อันเกิดจากนางสาวศิริเพ็ญ แซ่เจน ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ดินโฉนดเลขที่ 6284 และ 6285 อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายวิบูลย์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 นายวิบูลย์และนางสาวศิริเพ็ญได้คบคิดกันจดทะเบียนโอนให้จำเลย โดยบุคคลทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายวิบูลย์ และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2539 นายวิบูลย์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทราบการกระทำดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2540 ได้บอกกล่าวให้จำเลยโดยนางสาวศิริเพ็ญผู้ใช้อำนาจปกครองโอนที่ดินกลับคืนให้โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขณะโอนที่ดินและบ้านมีราคา 3,000,000 บาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรม การให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6284 และ 6285ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และให้โอนที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอน

จำเลยให้การว่า นางสาวศิริเพ็ญผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยอยู่กินกับนายวิบูลย์สามีโจทก์และมีบุตรด้วยกันคือจำเลย นายวิบูลย์โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีโจทก์ฟ้องเกินหนึ่งปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 1905/8พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 6284 และ 6285 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วคดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายวิบูลย์โอนบ้านและที่ดินพิพาท อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และนายวิบูลย์ ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายวิบูลย์โดยเสน่หาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาเป็นประเด็นแรกว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการให้ดังกล่าวเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาและพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เป็นการพิพากษานอกประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงประเด็นคือ คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และทรัพย์ที่โอนเป็นสินสมรสหรือไม่เห็นว่า ข้อที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยว่า การให้ดังกล่าวเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาและพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักที่ว่าทรัพย์ที่โอนเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะโจทก์ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวศาลจึงต้องวินิจฉัยในที่สุดว่า โจทก์เพิกถอนได้หรือไม่ เหตุนี้จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถานฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาโต้แย้งต่อมาว่า การที่นายวิบูลย์โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยเสน่หา ไม่ถือว่าเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เห็นว่า แม้จำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายวิบูลย์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องอุปการะเลี้ยงดูก็ตาม แต่โดยทางธรรมจรรยาอันหมายถึงหน้าที่ทางศีลธรรมซึ่งเป็นความรู้สึกผิดชอบภายในจิตใจ ที่เกิดจากพื้นฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้เป็นบิดาแล้ว นายวิบูลย์ย่อมมีความผูกพันที่จะให้การเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเกิดมาโดยปราศจากความผิดใด ๆ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยเป็นสำคัญ ซึ่งนายวิบูลย์ก็ได้จัดให้จำเลยได้รับการศึกษาและดูแลจำเลยตลอดมาจนกระทั่งนายวิบูลย์ถึงแก่ความตาย เหตุนี้การที่นายวิบูลย์โอนบ้านและที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลย ทั้งปัจจุบันจำเลยและนางสาวศิริเพ็ญซึ่งเป็นมารดาของจำเลยยังพักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทเจือสมกับหลักฐานที่ปรากฏในแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรหมาย ล.25 และ ล.26 จึงถือได้ว่าเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5)ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการที่ศาลยอมรับให้บิดาสามารถโอนบ้านและที่ดินพิพาทของภริยาชอบด้วยกฎหมายไปเป็นของบุตรนอกกฎหมาย กรณีย่อมต้องกระทบกระเทือนถึงศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า กรณีโอนทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสให้แก่บุคคลอื่น จะถือว่าเป็นหน้าที่ธรรมจรรยาอันเข้าข้อยกเว้นของมาตรา 1476(5) ที่คู่สมรสไม่อาจฟ้องเพิกถอนได้นั้น ศาลต้องพิเคราะห์ตามเหตุและผลที่ปรากฏในข้อเท็จจริงแต่ละกรณีเป็นราย ๆ ไปซึ่งต้องสอดคล้องด้วยหลักแห่งกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังเช่นกรณีนี้ ที่ศาลวินิจฉัยให้การโอนบ้านและที่ดินพิพาทของนายวิบูลย์เข้าข้อยกเว้นของมาตรา 1476(5) ก็หาใช่พิเคราะห์ถึงหน้าที่ธรรมจรรยาแต่เพียงประการเดียวไม่ หากแต่ได้พิเคราะห์ถึงการให้นั้นว่าพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะโจทก์เองก็เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่านอกจากที่ดินพิพาทแล้ว นายวิบูลย์ยังมีที่ดินแปลงอื่นอีกปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินหมาย ล.1 ถึง ล.7 และหนังสือรับรองประเมินราคาที่ดินหมาย ล.8 ถึง ล.10 รวมทั้งหุ้นที่บริษัทธนบูลย์อีก 93 หุ้นตามเอกสารหมาย ล.11 ซึ่งได้มีการประเมินราคาทรัพย์สินไว้กว่า 16 ล้านบาท นอกจากนี้นายวิบูลย์ยังมีเงินสดอีกจำนวนหลายล้านบาท ตลอดจนทุนในบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัดตามเอกสารหมาย ล.16 และ ล.17 แสดงถึงฐานะและความเป็นอยู่ของนายวิบูลย์ที่มั่นคง ไม่ขาดแคลน นายวิบูลย์สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรอย่างเต็มที่ดังจะเห็นได้จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่า เมื่อบุตรคนใดเรียนจบ พร้อมที่จะมีครอบครัว โจทก์และนายวิบูลย์ก็จะยกบ้านและที่ดินให้บุตรเป็นรายบุคคล อย่างไรก็ตามบ้านพิพาทไม่ปรากฏว่าโจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทั้งที่เป็นบ้านเก่าซึ่งปลูกมานานถึง 35 ปี และนายวิบูลย์ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2526 อันแสดงถึงเจตจำนงของนายวิบูลย์โดยชัดแจ้งว่า ต้องการสงวนบ้านและที่ดินพิพาทไว้ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่นายวิบูลย์มีอยู่ร่วมกับโจทก์ จึงถือได้ว่าการให้ดังกล่าวนอกจากเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาแล้วยังพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่อาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1476(5) นั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

----

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

- การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร