ไม่ตรวจสอบเอกสารก่อนรับจำนำรถเป็นความผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2566
จำเลยให้ ม. กู้ยืมเงิน 80,000 บาท โดย ม. ส่งรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ อันเป็นการรับจำนำ และเมื่อ ม. เคยนำรถยนต์กระบะไปจำนำเป็นประกันการชำระหนี้ที่ ม. กู้ยืมเงินจำเลย 60,000 บาท ครั้งนั้นจำเลยตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เจ้าของรถ อันเป็นปกติของการประกอบกิจการค้าขายรถยนต์มือสองมาประมาณ 20 ปี แต่การรับจำนำรถแทรกเตอร์ของจำเลยในวันเกิดเหตุ จำเลยกลับไม่ได้ขอดูเอกสารเกี่ยวกับรถแทรกเตอร์และไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน การไม่ตรวจสอบทางทะเบียนเพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงก่อน เป็นการผิดปกติวิสัยการรับจำนำหรือซื้อขายโดยสุจริตทั่วไป ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยต้องรู้ดีว่ารถแทรกเตอร์ที่จำเลยรับจำนำไว้นั้นเป็นทรัพย์ที่ ม. เช่าชื้อมาและอยู่ระหว่างระยะเวลาตามสัญญา ซึ่ง ม. ไม่มีสิทธินำไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เข้าลักษณะกระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 และให้จำเลยคืนรถแทรกเตอร์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 667,681 บาท แก่ผู้เสียหาย

ระหว่างพิจารณา บริษัท ย. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนรถแทรกเตอร์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 667,681 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 19 เมษายน 2561 นายมนูญ เช่าซื้อรถแทรกเตอร์ยี่ห้อยันม่าร์จากโจทก์ร่วม ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 763,700 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน 84 งวด นายมนูญชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ร่วมเพียง 8 งวด เป็นเงิน 16,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ร่วม นายมนูญถูกฟ้องต่อศาลแขวงอุบลราชธานีในความผิดฐานยักยอก เป็นคดีหมายเลขดำที่ 458/2563 นายมนูญให้การรับสารภาพ นายณัฐพร บุตรชายนายมนูญเป็นผู้กรอกข้อความในหนังสือสัญญากู้เงิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายมนูญ และนางพิมพิไล เป็นพยาน เบิกความทำนองเดียวกันว่า นายมนูญติดต่อขอกู้เงินจำเลย 80,000 บาท จำเลยตกลงและนัดมอบเงินกู้ที่บ้านของนางนวลจันทร์ วันที่ 4 เมษายน 2562 นายมนูญขับรถแทรกเตอร์ไปบ้านของนางนวลจันทร์พร้อมกับนางพิมพิไล จำเลยให้นายมนูญกู้เงิน 80,000 บาท โดยมอบเงินแก่นายมนูญ 72,000 บาท และหักดอกเบี้ยไว้ 8,000 บาท นายมนูญนำรถแทรกเตอร์ให้จำเลยยึดไว้เป็นประกัน กำหนดชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนรถแทรกเตอร์คืนภายใน 1 เดือน และได้ความจากคำเบิกความของนายมนูญอีกว่า หลังครบกำหนดนายมนูญไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ นายมนูญไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร พ. สาขาม่วงสามสิบ ตามนโยบายแก้หนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ธนาคารต้องการหลักฐานการเป็นหนี้ใช้ประกอบคำขอกู้เงิน จึงให้จำเลยมาเขียนสัญญากู้เงินเป็นหลักฐานที่ธนาคาร จำเลยอ้างว่าไม่สะดวกที่จะเดินทาง ให้นายมนูญเขียนสัญญากู้เงินเองโดยส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยมาทางแอปพลิเคชันไลน์ของนายณัฐพร นายมนูญให้นายณัฐพรกรอกข้อความในสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้ให้กู้ ระบุจำนวนเงิน 112,000 บาท ตามจำนวนที่จำเลยบอก แล้วนำไปยื่นต่อธนาคาร พ. สาขาม่วงสามสิบ แต่ไม่สามารถกู้เงินได้เพราะไม่มีผู้ค้ำประกันตามที่ธนาคารกำหนด ต่อมาโจทก์ร่วมมอบหมายให้นายเจนวิทย์ พนักงานของโจทก์ร่วมติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ นายมนูญไปพบนายเจนวิทย์ที่บ้านของนางผกาศรี กำนันตำบลไผ่ใหญ่ และแจ้งให้นายเจนวิทย์ทราบว่าได้นำรถแทรกเตอร์ไปให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ นายมนูญโทรศัพท์คุยกับจำเลย จำเลยแจ้งว่าถ้าจะไถ่ถอนรถคืนต้องชำระเงิน 112,000 บาท นายเจนวิทย์นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเสนอออกเงิน 80,000 บาท และให้นายมนูญหาเงินอีก 40,000 บาท แต่นายมนูญหาเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ จึงไม่มีการไถ่ถอนรถแทรกเตอร์คืนจากจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยไม่เคยให้นายมนูญกู้เงิน 80,000 บาท และไม่ได้ยึดรถแทรกเตอร์ไว้เป็นประกันเงินกู้จากนายมนูญ เห็นว่า นายมนูญและนางพิมพิไล พยานโจทก์และโจทก์ร่วม เบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญของการกู้เงินว่า จำเลยเป็นผู้ให้กู้และมอบเงิน 72,000 บาท แก่นายมนูญ และนายมนูญนำรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ร่วมให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ ทั้งนายมนูญยืนยันถึงเหตุผลที่ทำหนังสือสัญญากู้เงิน ว่า ในการยื่นเรื่องขอกู้เงินธนาคาร พ. ต้องเสนอหลักฐานการเป็นหนี้ประกอบการขอกู้เงินตามที่ธนาคารกำหนด แต่จำเลยไม่สะดวกมาที่ธนาคาร จึงส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้นายมนูญดำเนินการทำสัญญากู้เงินตามจำนวนที่จำเลยบอก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจำนวนเงินตามสัญญา 112,000 บาท สอดรับกับการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระ 4 เดือน มาคิดรวมกันตรงตามที่นายมนูญและนางพิมพิไลเบิกความว่า จำเลยหักดอกเบี้ยจากการกู้เงิน 80,000 บาท ไว้ล่วงหน้า 8,000 บาท ดังนั้น ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่นายมนูญยื่นเรื่องขอกู้เงินธนาคาร พ. เป็นเวลา 5 เดือน จำเลยหักดอกเบี้ยไว้ 1 เดือน เหลือดอกเบี้ยค้างชำระ 4 เดือน เป็นเงิน 32,000 บาท เมื่อรวมกับต้นเงิน 80,000 บาท เป็นเงิน 112,000 บาท ทั้งจำเลยเบิกความรับว่า ได้ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยมาทางแอปพลิเคชันไลน์ของนายณัฐพรเพื่อให้นายมนูญนำไปยื่นต่อธนาคาร พ. เจือสมคำเบิกความของนายมนูญให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้นว่าจำเลยมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยให้นายมนูญนำไปเป็นหลักฐานประกอบการขอกู้เงินธนาคาร พ. สาขาม่วงสามสิบ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยและไถ่ถอนรถแทรกเตอร์ที่จำเลยยึดไว้เป็นประกัน เพราะหากจำเลยมิได้ให้นายมนูญกู้เงินก็ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องส่งมอบเอกสารสำคัญให้แก่นายมนูญเนื่องจากอาจเกิดความเสียหายและก่อผลผูกพันแก่จำเลยตามมาในภายหลังได้ คำเบิกความของนายมนูญและนางพิมพิไลจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้รับฟัง โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางผกาศรี กำนันตำบลไผ่ใหญ่ เป็นพยานเบิกความว่า พนักงานของโจทก์ร่วมและของห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้านและที่ดินรวมสินไทย มาสอบถามเกี่ยวกับรถแทรกเตอร์ที่นายมนูญเช่าซื้อ วันนั้นนายมนูญติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์เคลื่อนที่และเปิดลำโพงโทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการไถ่ถอนรถแทรกเตอร์คืน โดยมีจำนวนเงิน 80,000 บาท และดอกเบี้ยอีกประมาณ 40,000 บาท พยานได้พูดคุยกับจำเลยด้วยว่าให้ไกล่เกลี่ยกันและนำรถมาคืน จำเลยสอบถามพยานว่าเป็นใคร เมื่อพยานบอกว่าเป็นกำนันตำบลไผ่ใหญ่ จำเลยก็ตัดสัญญาณโทรศัพท์ไม่พูดคุยกันอีก แม้นางผกาศรีไม่รู้จักจำเลยหรือเห็นจำเลยในขณะที่พูดคุยกัน แต่ในทันทีที่พูดคุยกันนายมนูญก็บอกว่าผู้ที่พูดโทรศัพท์ด้วยคือจำเลย ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าผู้ที่นายมนูญและนางผกาศรีพูดคุยทางโทรศัพท์เคลื่อนที่คือจำเลย นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายประยูรเป็นพยานเบิกความว่า นายมนูญพาจำเลยไปพบพยานที่ร้าน ก. ซึ่งพยานรับจ้างทำงานอยู่ พูดคุยกันเรื่องไถ่ถอนรถแทรกเตอร์ที่จำนำ นายมนูญจะขอสลับรถกระบะอีซูซุกับรถแทรกเตอร์ด้วย สนับสนุนคำเบิกความพยานโจทก์และโจทก์ร่วมให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวมา ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง แม้มีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความ ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยไม่ได้ให้นายมนูญกู้เงินโดยในวันที่จำเลยพบนายมนูญที่บ้านของนางนวลจันทร์ จำเลยไปรับซื้อเมล็ดพันธุ์ต้นราชพฤกษ์เห็นนายมนูญขับรถแทรกเตอร์มาพูดคุยกับชาย 2 คน ที่นายสวนติดต่อมา หลังจากนั้นจำเลยไม่เห็นชาย 2 คนและนายมนูญ กับไม่เห็นรถแทรกเตอร์อยู่ที่หน้าบ้านของนางนวลจันทร์อีก ทำนองว่าชาย 2 คน ที่นายสวนติดต่อมาเป็นผู้ให้นายมนูญกู้เงินและยึดรถแทรกเตอร์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้นั้น จำเลยมิได้ให้รายละเอียดถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในคำให้การชั้นสอบสวน แม้จำเลยจะมีนางบุญช่วย ซึ่งอ้างว่าไปร่วมซื้อเมล็ดของต้นราชพฤกษ์ที่บ้านนางนวลจันทร์ เป็นพยาน แต่นางบุญช่วยก็เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า ขณะที่พยานได้ยินจำเลย นางนวลจันทร์ และชายคนหนึ่ง พูดคุยกันที่บริเวณหน้าบ้านของนางนวลจันทร์ พยานไม่ทราบว่าพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องอะไร ข้ออ้างดังกล่าวจึงเลื่อนลอยและง่ายต่อการยกขึ้นกล่าวอ้าง ทั้งการอ้างว่าสาเหตุที่จำเลยส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปให้นายมนูญกู้เงินจากธนาคาร พ. เพราะต้องการช่วยเหลือนายมนูญเนื่องจากเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็ขัดกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลยที่จำเลยเคยให้นายมนูญกู้เงิน 60,000 บาท โดยนายมนูญต้องนำรถกระบะมาให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยคือผู้ให้นายมนูญกู้เงิน 80,000 บาท โดยนายมนูญส่งมอบรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ อันเป็นการรับจำนำ และเมื่อปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยเจือสมคำเบิกความของนายมนูญตรงกันว่า นายมนูญเคยนำรถกระบะอีซูซุไปจำนำเป็นประกันการชำระหนี้ที่นายมนูญกู้เงินจำเลย 60,000 บาท ครั้งนั้นจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เจ้าของรถ อันเป็นปกติของการประกอบธุรกิจที่จำเลยประกอบกิจการค้าขายรถยนต์มือสองมาประมาณ 20 ปี โดยจะต้องตรวจสอบสภาพรถยนต์รวมถึงเอกสารการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือการเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถก่อนทำสัญญาหรือการซื้อขาย แต่การรับจำนำรถแทรกเตอร์ของจำเลยในวันเกิดเหตุกลับปรากฏจากคำเบิกความของนายมนูญว่า จำเลยไม่ได้ขอดูเอกสารเกี่ยวกับรถแทรกเตอร์และไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกัน การไม่ตรวจสอบทางทะเบียนเพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงก่อน เป็นการผิดปกติวิสัยการรับจำนำหรือซื้อขายโดยสุจริตทั่วไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยต้องรู้ดีว่ารถแทรกเตอร์ดังกล่าวที่จำเลยรับจำนำไว้นั้นเป็นทรัพย์ที่นายมนูญเช่าซื้อมาและอยู่ระหว่างระยะเวลาตามสัญญา ซึ่งนายมนูญไม่มีสิทธินำไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เข้าลักษณะกระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

----

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

- การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร