สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ปลอมลายมือชื่อเจ้าของบัญชีไปถอนเงินจากธนาคารมีเหตุรอการลงโทษหรือไม่

การกระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อเจ้าของบัญชีนั้น เป็นความผิดโดยตรงต่อเจ้าของบัญชีในความผิดฐานปลอมเอกสาร และยังเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมกับธนาคารอีกด้วย เมื่อผู้กระทำความผิดได้รับสารภาพแล้ว จะมีเหตุรอการลงโทษหรือไม่

หลักเกณฑ์การพิจารณาว่ามีเหตุรอการลงโทษหรือไม่พิจารณาจากมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
(๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๖) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด  ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(๗) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(๘) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(๙) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(๑๐) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคสองนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดตามที่กล่าวในวรรคสองที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้ หรือถ้ามีการกระทำผิดทัณฑ์บนให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

จะเห็นว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาว่า จะมีเหตุรอการลงโทษหรือไม่มีอยู่จำนวนมาก ดังนี้ หากพิจารณาการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศซึ่งธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการกระทำในกรณีดังกล่าวย่อมเป็นความผิดร้ายแรง
โดยศาลได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังต่อไปนี้

จำเลยลักสมุดเงินฝากของ ป. และปลอมลายมือชื่อของ ป. ในใบถอนเงินของโจทก์ร่วม ถอนเงินออกจากบัญชีของ ป. เป็นเงินจำนวนมากถึง 900,000 บาทนับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ทั้งปรากฏตามรายงานการ

 

 

 

 

สืบเสาะและพินิจว่าจำเลยเคยลักเงินของเพื่อนและมารดาของจำเลยมาหลายครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดเอาเรื่อง จำเลยจึงไม่ถูกดำเนินคดี แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งคดียังไม่เป็นการสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

คำพิพากษาฉบับเต็ม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2545
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์สมุดเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเพชรเกษม 55 เลขที่ 300-1-01577-5 จำนวน 1 เล่มราคา 100 บาท ของนางประภาพร พรมแตง ผู้เสียหายไปโดยทุจริต หลังจากนั้นจำเลยทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยกรอกข้อความลงในใบถอนเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเพชรเกษม 55 ว่าขอถอนเงินจำนวน 100,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าว แล้วจำเลยปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรผู้เสียหายลงในใบถอนเงินดังกล่าวในช่อง "ลายมือชื่อเจ้าของบัญชี"และช่อง "ลายมือชื่อผู้รับเงิน" แล้วจำเลยใช้เอกสารใบถอนเงินปลอมดังกล่าวยื่นต่อนางสาวอรวรรณ เอี่ยมแก้ว พนักงานฝ่ายการเงินของธนาคารและหลอกลวงนางสาวอรวรรณด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นเจ้าของสมุดเงินฝากที่ลักมาดังกล่าวและใบถอนเงินเป็นเอกสารที่แท้จริง ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวอรวรรณ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย และประชาชนเพื่อขอเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางประภาพร ผู้เสียหายโดยทุจริต เป็นเหตุให้นางสาวอรวรรณหลงเชื่อมอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 334, 341, 91 ให้จำเลยคืนสมุดเงินฝากหรือใช้ราคา 100 บาท และคืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264(ที่ถูกคือมาตรา 264 วรรคแรก), 268 (ที่ถูกคือมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก), 334, 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่ง ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม กับความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 แต่บทเดียว จำคุก 1 ปีรวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 ปีให้จำเลยคืนสมุดเงินฝาก 1 เล่ม หรือใช้ราคา 100 บาท และคืนเงินจำนวน 100,000บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย (ที่ถูกคือให้จำเลยคืนสมุดเงินฝาก 1 เล่มหรือใช้ราคา100 บาท แก่นางประภาพร พรมแตง ผู้เสียหาย และคืนเงินจำนวน 100,000 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยลักสมุดเงินฝากของนางประภาพร และปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรลงในใบถอนเงินของโจทก์ร่วมถอนเงินออกจากบัญชีของนางประภาพรเป็นเงินจำนวนมากถึง 100,000 บาท นับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ประกอบกับได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติว่าจำเลยเคยลักเงินของเพื่อนและของมารดาจำเลยมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดเอาเรื่อง จำเลยจึงมิได้ถูกดำเนินคดี แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมก็เป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวยังไม่เป็นการสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม โดยลงโทษฐานลักทรัพย์กระทงหนึ่งและลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงอีกกระทงหนึ่งรวมสองกระทงนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้องเพราะตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในการลักสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนางประภาพรไปแล้วปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรในใบถอนเงินของโจทก์ร่วมแล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปแสดงต่อพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม แล้วได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำนั้น ๆ จะเป็นความผิด แต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่